ยานยนต์ไทยยุค EV ต้องปรับตัวเพื่อสร้างโอกาส

Last updated: 26 ก.ค. 2567  |  117 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ยานยนต์ไทยยุค EV ต้องปรับตัวเพื่อสร้างโอกาส



บริษัท เดอะ สเปซบาร์ เปิดเวทีสัมมนาระดมสมองเปิดมุมมองถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ภายใต้หัวข้อ ยานยนต์ไทยยุคอีวี โอกาส หรือ วิกฤต..? เหล่ากูรู มองอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ต้องปรับตัว หลังมีความท้าทายสูง ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสงครามราคา


โลกยุคพลังงานสะอาด มุ่งหน้าสู่ EV มุ่งเป็นฮับอีวีไทย ฝันสวยงาม แต่ตอนนี้เริ่มจะมีความเสี่ยง การเปลี่ยนไปของเทคโนโลยี และแง่ผู้นำการผลิตรถยนต์ ประเทศเรารับมือการเปลี่ยนแปลงอย่างไร


สุปรีย์ ทองเพชร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะสเปซบาร์ จำกัด ชี้ ประเด็นการเกิดขึ้นของรถยนต์อีวีไทย ถือเป็นโอกาส แต่อาจจะมีวิกฤตเข้ามาสอดแทรกบ้าง เช่น สงครามด้านราคา ซึ่งมีต้นเหตุมาจากตลาดรถยนต์ในจีนประสบภาวะโอเวอร์ซัพพลาย จึงพยายามหาตลาดใหม่ โดยที่ไทยก็เป็นเป้าหมายที่สำคัญ ทำให้เกิดสงครามราคาขึ้น ทั้งนี้ภาพใหญ่มองว่าเป็นโอกาสเพราะรถไฟฟ้าเป็นเรื่องของเทคโนโลยีเป็นเรื่องของอินฟาสตรัคจอร์ ไม่ใช่ยานยนต์เพียงอย่างเดียวโดยการเติบโตมีโอกาสมากมาย ขึ้นอยู่กับไทย จะคว้าโอกาสได้มากน้อยแค่ไหน และจะรับมือกับวิกฤติครั้งนี้อย่างไรเป็นที่มาให้นำกูรูมาฉายภาพสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและต้องยอมรับด้วยว่าขณะที่ทุกฝ่ายกำลังปรับตัวอย่างหนักในอุตสาหกรรมรถยนต์


วิทวัฒน์ ทองเวส เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า เราไม่ปฏิเสธเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า เพราะเป็นไปตามเทรนด์โลกที่มุ่งใช้พลังงานสะอาด แต่ถือว่ารถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมาเร็วไป ท่ามกลางสถานีชาร์จที่ยังไม่พร้อม โดยเฉพาะในแถบชานเมืองจะเห็นภาพ ความไม่พอของจุดชาร์จช่วงเทศกาล ทำให้ต้องต่อคิวเพื่อชาร์จรถยนต์จำนวนมาก

ขณะที่ในแง่แรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ จะถูกแทนด้วย AI หรือไม่นั้น กล่าวได้ว่า เรื่องแรงงานต้องมีการปรับตัว ปรับทักษะ (Skill) ให้สอดรับกับอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่เปลี่ยนไปพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น เท่ากับว่า ทักษะแรงงานก็ต้องรองรับเทคโนโลยี แต่จะเห็นได้ว่า ภาครัฐเองก็ยังไม่มีนโยบายรองรับ สถาบันการศึกษาก็ยังไม่มีหลักสูตร ทางกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ จึงมีการพูดคุยให้นำหลักสูตรจากต่างประเทศ มารองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น



ดร.ณชา อนันต์โชติกุล หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ KKP Research กลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร (KKP) ให้มุมมองว่า อุตสาหกรรมอีวี เป็นทั้งโอกาสและวิกฤต กล่าวได้ว่า EV คือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ สำหรับประเทศไทยแล้วถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาก อาจจะใหญ่ที่สุดในรอบ 40 ปี เพราะ 2 ด้านที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน คือหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ เปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน เป็นเครื่องยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่ มาเป็นไฟฟ้า และอย่างที่สอง คือ การเปลี่ยนแปลงผู้เล่น จากเดิมที่เป็นค่ายญี่ปุ่น-ยุโรป ก็กลายมาเป็น ‘จีน’ ที่ถือได้ว่า เป็นผู้เล่นหน้าใหม่ ที่ทรงพลังมากและต้องการเป็นเจ้าตลาด

“2 ความท้าทายใหญ่ขนาดนี้ เขย่าสะเทือนโลกขณะนี้ มันมากระทบกับสถานะที่เราเป็นที่ 1 ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคเอเชีย ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์เราเป็น ICE (สันดาปภายใน) อันนั้น ก็โดนดิสรัปอย่างหนึ่งแล้ว อย่างที่ 2 คือว่า ค่ายรถยนต์ที่อยู่ในเมืองไทยมาดั้งเดิม (ญี่ปุ่น) พอผู้เล่นหน้าใหม่ (จีน) เข้ามาตีตลาด มาแข่งขัน เลยทำให้ผู้เล่นรายเดิมที่ไทยเป็นพันธมิตรด้วย และเป็นฐานการผลิตในไทยโดนกระทบไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ภาครัฐ น่าจะต้องมีมาตรการที่ให้โอกาสอย่างเท่าเทียม”

ดร.ณชา กล่าวด้วยว่า เราไม่ได้ปฏิเสธการเข้ามาของ EV ไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องไม่ดี แต่ยังไงก็ตาม การเปลี่ยนเทคโนโลยีไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะรถยนต์ แต่ได้เกิดขั้นในทุกอุตสาหกรรม ถือเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว เพราะถือเป็นการสร้างโอกาสใหม่ ๆ มากมาย ที่น่ากังวล คือว่า ถ้าเราไม่มีการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ให้ดี ๆ เราก็อาจเพลี่ยงพล้ำ และทำให้เกิดผลกระทบในเชิงลบทั้งต่อเศรษฐกิจ ต่อซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมยานยนต์ในปัจจุบันได้ รวมไปถึงเรื่องแรงงาน การจ้างงาน (แรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์) ที่ต้องบอกว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจไทยด้วย



สุโรจน์ แสงสนิท นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้า (EVAT) มองว่า รถยนต์ไฟฟ้า อาจไม่ใช่โอกาส 100% หากเปรียบเทียบรถน้ำมันกับรถไฟฟ้า ส่วนที่ต่างคือ การขับเคลื่อน ซึ่งมีหลายอย่างจะหายไป โดยหนึ่งในนั้นก็คือ เครื่องยนต์ ท่อไอเสีย แล้วก็หม้อลมเบรก

“เรื่องสงครามการค้าระหว่าง อเมริกา กับ จีน ซึ่งปีที่ในจีนเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลกของรถไฟฟ้า แต่ปัจจุบันประตูการค้าของยุโรป และอเมริกา ได้ปิดลง และถือเป็นวิกฤตของจีน แต่นั้นกลับกลายเป็นโอกาสของกลุ่มอาเซียนเรา แม้ประตูการค้าปิดลงแต่ยังไม่มีการย้ายฐานการผลิต อีก 12 เดือนข้างหน้าจะมีย้ายถิ่นฐานการผลิตเข้าในไทย เสมือนการเปลี่ยนสัญชาติรถยนต์ไฟฟ้า นั่นจึงกลายเป็นโอกาสให้ซับพลายได้รับการอัพสกิล”

ส่วนการเร่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้า จนทำให้ราคาลดลง จะกลายเป็นตัวบีบให้เกิดสงครามราคา หรือไม่นั้น นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าวว่า สงครามราคาไม่ได้เพิ่มยอด ลูกค้าหลายคนก็จะคอยราคาว่า จะลดอีกหรือไม่ คนที่ซื้อแล้วจะเกิดความไม่พอใจ และเพิ่มแรงต่อต้านขึ้นมา การผลิตชดเชย การลดราคา สงครามราคาไม่ใช่การที่เราต้องผลิตชดเชย ที่จริงแล้วสต็อกยังนำเข้าอยู่ โดยปัจจุบัน มีแค่ 3 ยี่ห้อที่ผลิตในประเทศ ซึ่งก็ยังไม่พอ MG, เกรท วอลล์ มอเตอร์, เนตา เพิ่งเริ่มผลิตได้หลายพัน แต่ยังไม่พอชดเชย 1 เท่า ไม่ใช่ว่ากำลังผลิตไม่พอ แต่เป็นการผลิตไปกอง เนื่องจากขายไม่ออก และต้องเบรกการผลิตไป

ส่วนสถานการณ์รถยนต์ไฟฟ้า มองว่ายังไม่ตก แม้อัตราการเร่งตกลงไป ถ้าหากดูจากสถิติรถไฟฟ้าทั่วโลกยังเติบโตอยู่ประมาณ 14 ล้านคัน ส่วนในประเทศ อัตราส่วนถ้าเทียบกับรถยนต์สันดาป อย่างปีที่แล้วไป 12% ปีนี้เป็น 13% เรียกว่าอัตราการเร่งดร็อบลงไปโดยปัจจัย เรื่องเศรษฐกิจเป็นตัวหลัก ตามมาด้วยสงครามราคา


ด้านพิทยา ธนาดำรงศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด ระบุว่า เห็นด้วยว่าเรื่องรถยนต์ EV ถือเป็นโอกาส มากกว่าวิกฤต การที่จีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากรัฐบาลเราให้การสนับสนุนแรงที่สุดในอาเซียน จึงทำให้ ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า สูงขึ้น 70,000 กว่าคันเกือบ 80,000 คัน ประกอบกับรัฐบาลไทย ยังอนุญาตให้นำเข้าก่อนด้วยแล้วค่อยผลิตชดเชย มองว่ามันเป็นโอกาสของประเทศไทย



“การที่จีนเข้ามาลงทุนในไทย ผมว่าเป็นโอกาสแต่จะกลายเป็นวิกฤตตรงที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนในบ้านเราจะปรับตัวได้ทันหรือไม่”

ส่วนเรื่องสงครามราคา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด ระบุว่า สงครามราคาถือเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเผ็ดร้อน โดยสงครามราคาถือเป็นปัจจัย ที่ทำให้เกิดความสับสนและขาดความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้บริโภค ดังนั้น เราต้องมองว่าเมื่อไหร่มันจะถึงจุดสิ้นสุด ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นความเจ็บปวดของผู้ผลิตโดยต้องยอมรับว่าการที่รถยนต์ไฟฟ้าผลิตในประเทศไทย ราคาอาจไม่ได้ถูกเท่าประเทศจีน

“แม้เราไม่สามารถหยุดความคิดของบางแบรนด์ได้ แต่เมื่อกลไก ผลิตรถยนต์แต่ละค่ายเริ่มผลิตแล้ว สงครามราคา ไม่น่าลงไปกว่านี้และน่าจะสิ้นสุดในเร็ว ๆ นี้”

ส่วนมูลเหตุสำคัญที่ทำให้ เกิดสงคราม คาดว่าเกิดจาก Over ซับพลายที่จีน ซึ่งในจีนอาจมีการอัดฉีดยอดการผลิตจนไม่สามารถระบายออกได้ทัน จึงล้นเข้าประเทศไทย อีกอย่างน่าจะเป็นความพยายามการแย่งมาร็เก็ตแชร์ ทั้ง EV และรถน้ำมัน รวมถึงการเอาชนะญี่ปุ่น จึงทำให้เกิดความไม่ปกติในตลาดรถยนต์ EV

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้