Last updated: 11 มิ.ย. 2567 | 153 จำนวนผู้เข้าชม |
วันที่ 11 มิถุนายน 2567 นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงาน “เทศกาลวันนักวิทยาศาสตร์น้อย ประจำปี 2567” ภายใต้หัวข้อ “การผจญภัยในห้วงอวกาศ” พร้อมด้วย คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย และ ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM เพื่อเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัยผ่านเรื่องราวของดวงดาวและอวกาศ ที่จะชวนทุกคนสร้างสรรค์จินตนาการไปด้วยความสนุกสนาน โดยมีนางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.สุพรรณี ชาญประเสริฐ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) นางสาวพรเพ็ญ ทองสิมา ผู้เชี่ยวชาญด้านประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผศ.ดร.สุวรรณ พลายพิชิต ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสารสนเทศและกิจการพิเศษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คุณคาโรลีน ลิงค์ ประธานบริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด และประธานร่วมบริษัท บี.กริม ฟาร์มา และนางสาวสมพร สิริพิทักษ์เดช หัวหน้างานศูนย์สื่อสาธารณะเพื่อเด็กและครอบครัว ไทยพีบีเอส ร่วมแถลงข่าวฯ ที่จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ณ เดอะ สตรีท รัชดา กรุงเทพฯ
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบายเมืองแห่งการเรียนรู้ที่กรุงเทพมหานครพร้อมสนับสนุน ซึ่งที่ผ่านมามีโรงเรียนจากหลายสังกัดเข้าร่วมโครงการนี้ รวมถึงโรงเรียนในสังกัดของกรุงเทพมหานครเองก็ได้เล็งเห็นความสำคัญและเข้าร่วมโครงการนี้มามากกว่า 10 ปี ทั้งยังมีการขยายผลที่ดีภายในโรงเรียนอีกด้วย ในฐานะตัวแทนกรุงเทพมหานคร รู้สึกยินดี และดีใจแทนเด็ก ๆ รวมทั้งคุณครู อาจารย์ ที่มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่ได้มาผนึกกำลังร่วมกันจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่สนุกสนานให้กับเด็กเล็ก หรือ เด็กปฐมวัย ที่เปรียบเสมือนเป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโต การส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์จึงถือเป็นสิ่งสำคัญ ถือเป็นฐานรากที่สำคัญที่ทำให้เด็กเกิดกระบวนการคิดเป็นเหตุเป็นผล ดังนั้นการสร้างโอกาสในการเกิดการเรียนรู้ที่ไม่จำกัดเพียงการเรียนรู้ตามหลักสูตรของโรงเรียน เเต่ยังรวมไปถึงการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์นอกห้องเรียนที่สนุกสนานจะช่วยให้เด็กที่พัฒนาการที่ดี นำไปสู่การเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ”
คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย กล่าวว่า “โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ดำเนินการจัดกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เราได้ตระหนักถึงปัญหาของการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของเด็กไทยที่ผ่านมาไม่ได้รับการพัฒนาทักษะอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้ปัจจุบันเกิดการขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้ศึกษาโครงการส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยในประเทศเยอรมนี จากมูลนิธิ “Haus der Kleinen Forscher” ซึ่งเป็นโครงการที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำริให้คณะกรรมการนำไปพิจารณาริเริ่มการนำโครงการดังกล่าว มานำร่องเป็นต้นแบบในประเทศไทย เพื่อพัฒนาการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยปัจจุบันดำเนินโครงการเป็นปีที่ 13 โดยได้ขยายผลกว่า 39,835 โรงเรียนทั่วประเทศ ทั้งในระดับปฐมวัยและประถมศึกษา ผ่านผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น 456 แห่ง โดยมีกิจกรรมอบรมครู พัฒนาสื่อการเรียนการสอน และทำกิจกรรมสู่กลุ่มครอบครัว ถือเป็นกิจกรรมการเรียนรู้จากสิ่งใกล้ตัวเด็กที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการเรียนรู้ระดับปฐมวัย ที่สามารถเพิ่มพูนประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็ก ๆ ได้อย่างเต็มที่ เพื่อที่จะเติบโตเป็นเยาวชนที่ดีในอนาคต และเป็นแนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืนต่อไป”
ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM กล่าวว่า “อพวช. ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานหลักที่มีบทบาทขับเคลื่อน 'โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย' มาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี โดยเฉพาะรายการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ซึ่งออกอากาศในช่อง Thai PBS และช่วยในการประสานงานในการจัดทำคู่มืองาน 'เทศกาลวันนักวิทยาศาสตร์น้อย' เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับเด็กปฐมวัย โดย 'เทศกาลวันนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ประจำปี 2567' ในปีนี้จัดขึ้นทั้งหมด 2 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลางและภาคใต้ ในหัวข้อ 'การผจญภัยในห้วงอวกาศ' โดยภาคกลางจะจัดขึ้นที่ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ณ เดอะ สตรีท รัชดา และภาคใต้จัดที่จังหวัดสงขลา ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ซึ่งปีนี้เราได้พัฒนาคู่มือ 'การผจญภัยในห้วงอวกาศ' ขึ้น เพื่อสร้างทักษะการสังเกต การจำแนกกลุ่มดาวบนท้องฟ้า การประดิษฐ์แผนที่ดาวแบบง่าย ตลอดจนปรากฏการณ์ต่าง ๆ บนท้องฟ้า โดยแบ่งออกเป็น 4 ฐานกิจกรรม ประกอบด้วย ฐานที่ 1 ค้นหากลุ่มดาวบนท้องฟ้า: ต่อยอดจินตนาการด้วยการประดิษฐ์แผนที่ดาวด้วยตัวเอง ฐานที่ 2 สร้างระบบสุริยะด้วยมือเรา: ชวนเปรียบเทียบดาวเคราะห์กับโลกในระบบสุริยะของเรา ฐานที่ 3 เมื่อฉันไปเยือนดาวอังคาร: เรียนรู้เกี่ยวกับดาวอังคารและจินตนาการถึงสิ่งที่มีอยู่บนดาวดวงนั้น ฐานที่ 4 ส่งสารไปต่างดาว: ชวนเด็ก ๆ บอกเล่าความพิเศษส่งออกไปในอวกาศ โดยคู่มือนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนครูและนักวิทยาศาสตร์น้อยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ค้นคว้าคำตอบ เกิดความสนุกสนานและสร้างจินตนาการและทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ นำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคต”
คุณคาโรลีน ลิงค์ ประธานบริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด และประธานร่วมบริษัท บี.กริม ฟาร์มา กล่าวว่า “การศึกษาคือรากฐานสำคัญของการพัฒนาบุคลากร ซึ่งเป็นกำลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาของประเทศ บี.กริม จึงให้ความสำคัญและสนับสนุนการศึกษาในทุก ๆ มิติ มาอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในโครงการสำคัญคือ โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ซึ่ง บี.กริม ได้ให้การสนับสนุนมาตั้งแต่ปี 2553 เนื่องด้วยวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาบุคลากร เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ ซึ่งสอดคล้องตามหลักปรัชญา 'การดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี' ของ บี.กริม เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ให้เด็ก ๆ สนุกกับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โดยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการวางรากฐานทักษะการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (Science, Technology, Engineering, and Mathematics) หรือ STEM ให้แก่นักเรียนระดับปฐมวัยและประถมศึกษากว่า 400,000 คน ภายในปี 2573 ผ่านโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย บี.กริมเล็งเห็นว่าทักษะด้าน STEM มีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นพนักงานของ บี.กริมเองยังได้มีส่วนร่วมสนับสนุนโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ในฐานะ 'นักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยง' ด้วยการเข้าร่วมฝึกอบรมและทำกิจกรรมร่วมกับคุณครูในโรงเรียนเครือข่าย บี.กริม ซึ่งเป็นโรงเรียนในบริเวณใกล้เคียงสถานประกอบการของ บี.กริม กว่า 138 แห่งอีกด้วย”