พลาสติกแอนด์รับเบอร์ไทยแลนด์ 2024 ดันไทยบรรลุเป้า Net Zero อุตสาหกรรมพลาสติกและยางไทยขยายตัวดี เศรษฐกิจโลกฟื้นต้องการพุ่ง

Last updated: 16 พ.ค. 2567  |  187 จำนวนผู้เข้าชม  | 

พลาสติกแอนด์รับเบอร์ไทยแลนด์ 2024 ดันไทยบรรลุเป้า Net Zero อุตสาหกรรมพลาสติกและยางไทยขยายตัวดี เศรษฐกิจโลกฟื้นต้องการพุ่ง

ครั้งแรกของการจับมือกับ “อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย” และ “เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย” นำผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชั้นนำจากหลากหลายประเทศทั้ง ออสเตรีย เยอรมัน อิตาลี ไต้หวัน ร่วมฉายภาพอุตสาหกรรมพลาสติกและยางไทย ปีนี้จ่อขยายตัวดี หลังทิศทางเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกพลิกฟื้น บวกนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรม New S-Curve หนุนความต้องการใช้พุ่ง เปิดฉากงานใหญ่ “พลาสติกแอนด์รับเบอร์ไทยแลนด์ 2024 : Plastics & Rubber Thailand 2024” ภายใต้แนวคิด “Step to Net Zero” ผลักดันไทยสู่เป้าหมายก้าวสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ พร้อมจัดแสดงงานอย่างยิ่งใหญ่ร่วมกับงานอินเตอร์แมค งานซับคอน ไทยแลนด์ และไทร์เอ๊กซ์โป เอเชีย 2024 จัดแสดงงานระหว่างวันที่ 15 – 18 พ.ค. เวลา 10.00 – 18.00 น. ณ ไบเทค บางนา

นายสรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ผู้นำด้านการจัดงานแสดงสินค้าสำหรับธุรกิจ อุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่กำลังเติบโตชั้นนำระดับโลก ในฐานะผู้จัดงาน “พลาสติกแอนด์รับเบอร์ไทยแลนด์ 2024 : Plastics & Rubber Thailand 2024” งานแสดงเทคโนโลยี เครื่องจักรและวัตถุดิบ สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกและยางแบบครบวงจรในประเทศไทยและอาเซียน เปิดเผยว่า สถานการณ์อุตสาหกรรมพลาสติกและยางไทย ปีนี้จะเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่องจากปี 2566 ที่การผลิตและการบริโภคผลิตภัณฑ์พลาสติกและยางเติบโตได้เพียงเล็กน้อย โดยมองปัจจัยหนุน ปี 2567 มาจากเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง หนุนความต้องการใช้พลาสติกและยางของอุตสาหกรรมปลายทาง อาทิ บรรจุภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ก่อสร้าง และเครื่องมือแพทย์ ฯลฯ เพิ่มสูงขึ้น



ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม New S-Curve ซึ่งมีส่วนหนุนความต้องการใช้พลาสติกและยางที่อยู่ในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมดังกล่าว อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมพลาสติกและยางยังต้องเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมพลาสติกที่ต้องรับมือกับเมกะเทรนด์รักษ์โลกเพื่อความยั่งยืน ทำให้หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยออกนโยบายลดการใช้พลาสติกที่มีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และส่งเสริมการใช้พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งจะเพิ่มภาระต้นทุนแก่ผู้ประกอบการ ท่ามกลางความผันผวนของราคาน้ำมันดิบโลก


ความพิเศษของการจัดงาน “พลาสติกแอนด์รับเบอร์ไทยแลนด์ 2024 : Plastics & Rubber Thailand 2024” ยังเป็นความร่วมมือกันจัดงานร่วมกันเป็นครั้งแรกระหว่าง อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ฯ และ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ทั้งนี้ เพื่อมุ่งบรรลุเป้าผลักดันการจัดงานให้ยิ่งใหญ่และเข้มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ตอกย้ำจุดแข็งการจัดงานที่การระดมผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยในแวดวงอุตสาหกรรมพลาสติกและยางรวบรวมไว้ในงานสูงสุด พร้อมกับส่งเสริมโซลูชั่นสู่เป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคการผลิตเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) และส่งเสริมความพร้อมแก่นักอุตสาหกรรมสำหรับการมาของมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญที่จะส่งผลต่อการส่งออกสินค้าไปสู่ยุโรป และเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยเลี่ยงไม่ได้


ทั้งนี้ ภายในงานปีนี้มีกิจกรรมไฮไลต์มากมาย อาทิ จัดแสดงพิเศษ Mold & Die Pavilion จากสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย ที่นำเสนอเทคโนโลยีแม่พิมพ์สำหรับยางและพลาสติก เพราะแม่พิมพ์นั้นถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการขึ้นรูปพลาสติกและยาง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตพลาสติก และอุตสาหกรรมยางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของแม่พิมพ์อุตสาหกรรม และ Advanced Composite Pavilion จากสมาคมไทยคอมโพสิท ที่นำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคตด้วยการจัดแสดงวัสดุคอมโพสิตขั้นสูงที่กำลังเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมทั่วโลก ด้วยคุณสมบัติที่พิเศษทำให้วัสดุคอมโพสิตเป็นตัวเลือกสำหรับการบินและอวกาศไปจนถึงอุตสาหกรรมอุปกรณ์กีฬา


ขณะเดียวกัน ปีนี้ยังคงอัดแน่นด้วยสัมมนาในหัวข้อต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจ พร้อมแนะแนวทางแก้ไขปัญหาในการผลิต ซึ่งผู้เข้าร่วมงานสามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดธุรกิจได้ อาทิ สัมมนา “FORUM ON RECYCLING SOLUTIONS & SUSTAINABILITY” โดยมีหลากหลายวิทยากรจากหลากหลายหน่วยงานชั้นนำเข้าร่วมแบ่งปันความรู้และเทคโนโลยีด้านการรีไซเคิลเพื่อใช้ในหน่วยงานอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน สัมมนา “พลาสติกชีวภาพกับการลดการปลดปล่อยคาร์บอน Bioplastics and Carbon Emission (CO2) Reduction” จัดโดยสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA) สัมมนา “มาตรฐานสากลสำหรับพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” จัดโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

สัมมนา “แนวโน้มของอุตสาหกรรมยาง และโอกาสของยางธรรมชาติและอุตสาหกรรมยางไทย” จัดโดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เสวนา “(EECi กับอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ จากห้องปฏิบัติการสู่การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ) และกิจกรรม Workshop การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรขั้นพื้นฐานเพื่อเตรียมความพร้อมให้ธุรกิจในยุคคาร์บอนต่ำ เป็นต้น


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้