กอ.รมน. ร่วมกับ วช. ยกระดับศักยภาพชุมชนด้วยนวัตกรรมงานวิจัย พร้อมเร่งส่งมอบนวัตกรรมสู้ภัยแล้งในพื้นที่ภาคเหนือ

Last updated: 10 ม.ค. 2566  |  270 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กอ.รมน. ร่วมกับ วช. ยกระดับศักยภาพชุมชนด้วยนวัตกรรมงานวิจัย พร้อมเร่งส่งมอบนวัตกรรมสู้ภัยแล้งในพื้นที่ภาคเหนือ


เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดพิธีส่งมอบนวัตกรรมและเยี่ยมชมการสาธิตผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีของชุมชน จากการดำเนินโครงการ “การแก้ปัญหาภัยแล้งและยกระดับผลผลิตทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชุมชนสังคม จังหวัดลำปางและสุโขทัย” เพื่อนำองค์ความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร โดยมี พล.ท.อนุชา สังฆสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กอ.รมน. และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีส่งมอบฯ ซึ่งมี นายชนาธิป เสมแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นายณัฏฐพงศ์ สุขวิสิฏฐื รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ให้การต้อนรับ พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และ กอ.รมน. ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะนักวิจัย เกษตรกรในพื้นที่ และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน ณ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านขอ อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง



พล.ท.อนุชา สังฆสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กอ.รมน. กล่าวว่า กอ.รมน. เป็นหน่วยงานด้านความมั่นคง มีอำนาจหน้าที่และรับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นองค์กรหลักในการบูรณาการอำนวยการ ประสานการปฏิบัติ และกำกับดูแลการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ พร้อมทั้งดำเนินการเสริมสร้างให้ประชาชนตระหนัก ในหน้าที่ที่จะเทิดทูน พิทักษ์และรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ และสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้วยการน้อมนำแนวทางพระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”เป็นหลักในการดำเนินงานโดยมีกลไกโครงสร้างของส่วนบริหาร ส่วนอำนวยการ ส่วนประสานงานและส่วนปฏิบัติงานในพื้นที่ สร้างพลังสังคม พลังชุมชน นวัตกรรมชุมชน นวัตกรรมสังคมเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวสู่ข้างหน้าด้วยความมั่นคง สังคมไทยมีความสงบสุข ตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง บนพื้นฐานความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรม ที่สามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง



ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มุ่งหวังเป็นกลไกหนึ่งในการร่วมปฏิบัติพัฒนานำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปพัฒนาประเทศ ตามเจตจำนงของรัฐบาลในการสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก สร้างพลังสังคม พลังชุมชน นวัตกรรมชุมชน นวัตกรรมสังคมเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง โดยเห็นความสำคัญของการร่วมมือกับ กอ.รมน. หน่วยงานภาคความมั่นคงที่ร่วมสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงทางสังคม ความมั่นคงแบบพิเศษ ความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พลังงาน และอาหารรวมถึงความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ภายใต้ความร่วมมือในระยะแรก นับเป็นความร่วมมืออันดีในการส่งต่อองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่พื้นที่ชุมชน สู่ศูนย์เรียนรู้ ของเครือข่ายปราชญ์เพื่อความมั่นคง นำองค์ความรู้สู่ประชาชนในพื้นที่ของ กอ.รมน. ให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็งบนฐานความรู้ ด้านการวิจัยและนวัตกรรม ในการนำองค์ความรู้ไปพัฒนากระบวนการผลผลิต การพัฒนาอาชีพ การพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนาสังคม การพัฒนาสิ่งแวดล้อมและพลังงานให้แก่ชุมชน และประชาชนในพื้นที่ของ กอ.รมน. ให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็งและมีความยั่งยืน อันนับเป็นการส่งเสริมการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชนและชุมชนฐานรากของประเทศได้อย่างยั่งยืนด้วยวิจัยและนวัตกรรม



สำหรับพิธีส่งมอบนวัตกรรมในครั้งนี้ มีสมาชิกหมู่บ้านและเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ในพื้นที่เข้าร่วมงานกว่า 300 คน โดยผลงานนวัตกรรมที่ กอ.รมน. ร่วมกับ วช. นำมาส่งมอบให้กับพื้นที่ตำบลบ้านขอ อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง จำนวน 13 หมู่บ้าน ได้แก่ รถเข็นสูบน้ำพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 13 เครื่อง สถานีสูบน้ำพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ จำนวน 1 สถานี เครื่องอบลมร้อนอเนกประสงค์พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์เคลื่อนที่ได้ จำนวน 3 เครื่อง และ สถานที่แปรรูปผลผลิตทางการเกษตรตามมาตรฐาน GMP จำนวน 1 โรงงาน และนวัตกรรมที่ส่งมอบให้กับพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ได้แก่ รถเข็นสูบน้ำพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 12 เครื่อง สถานีสูบน้ำพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนบก จำนวน 1 สถานีเครื่องอบลมร้อนอเนกประสงค์พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์เคลื่อนที่ได้ จำนวน 3 เครื่อง เครื่องอัดเม็ดปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 1 เครื่อง พร้อมผลิตภัณฑ์ต้นแบบ แพลตฟอร์มการบริหารจัดการกลุ่มอาชีพ และสื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการตลาด และส่งมอบนวัตกรรมให้กับพื้นที่ตำบลท่าฉนวน อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย จำนวน 12 หมู่บ้าน ได้แก่ รถเข็นสูบน้ำพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 12 เครื่อง สถานีสูบน้ำพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนบก จำนวน 1 สถานี เครื่องอบลมร้อนอเนกประสงค์พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์เคลื่อนที่ได้ จำนวน 3 เครื่อง เครื่องอัดเม็ดปุ้ยอินทรีย์ จำนวน 1 เครื่อง สถานที่แปรรูปผลผลิตทางการเกษตรตามมาตรฐาน GMP จำนวน 1 โรงงาน รวมทั้งผลิตภัณฑ์ต้นแบบ แพลตฟอร์มการบริหารจัดการกลุ่มอาชีพ และสื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการตลาด



ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. กอ.รมน. และทีมนักวิจัย ได้เยี่ยมชมการสาธิตผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีของชุมชน ประกอบไปด้วย รถเข็นสูบน้ำพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ เครื่องอบลมร้อนแบบพาราโบลาโดมแบบเคลื่อนที่ได้ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากผลผลิตทางการเกษตร และการบริหารจัดการกลุ่มอาชีพ นำเสนอโดยทีม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชาคริต ชาญชิตปรีชา รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา คณะนักวิจัยในโครงการฯ พร้อมทั้งเยี่ยมชมสถานที่แปรรูปผลผลิตทางการเกษตรตามมาตรฐาน GMP ณ วิสาหกิจชุมชนน้ำพริกฆ้องคำ ตำบลบ้านขอ อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้นำไปสู่การสร้างเสริมศักยภาพชุมชนสร้างเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ อันจะนำไปสู่การสร้างโอกาส สร้างอาชีพ และยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นให้ดีขึ้นตามแผนยุทธศาสตร์ชาติอย่างเป็นรูปธรรม

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้