Last updated: 13 ก.ค. 2565 | 403 จำนวนผู้เข้าชม |
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดแถลงข่าว "NRCT Talk : นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 ครั้งที่ 9" เปิดตัว ศาสตราจารย์ พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ โดยในครั้งนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นายเอนก บำรุงกิจ ผู้อำนวยการกองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานการแถลงข่าวฯ ณ ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
นายเอนก บำรุงกิจ ผู้อำนวยการกองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า วช. ได้มอบรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 ให้กับ ศาสตราจารย์ พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะนักวิจัยที่อุทิศตนเพื่องานวิจัยอย่างต่อเนื่อง มีผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการเกี่ยวกับงานวิจัยด้านรังสีคอสมิกและฟิสิกส์อวกาศในประเทศไทย รวมถึงสร้างสถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธร ที่ศูนย์ควบคุมและรายงานดอยอินทนนท์ กองทัพอากาศ จังหวัดเชียงใหม่ จากความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีเพื่อสังคมและประเทศ ศาสตราจารย์ พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล จึงได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565
ศาสตราจารย์ พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล กล่าวว่า “จุดเริ่มต้นที่สนใจเรื่องฟิสิกส์อวกาศนั้น ก็คงเหมือนเด็กทุกคนที่ชื่นชอบการดูดาว ชอบเรียนฟิสิกส์ อยากรู้เรื่องอวกาศ เมื่อเรียนจบปริญญาเอก ก็อยากทำอะไรเพื่อสังคมไทย เพราะอดีตตอนมาอยู่เมืองไทยได้เห็นว่ามีนักวิจัยด้านฟิสิกส์น้อยมาก จึงอยากมีส่วนทำให้นักเรียน นักศึกษาไทยก้าวสู่การเป็นนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ด้านฟิสิกส์อวกาศของประเทศไทย ขณะนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ต้องเพิ่มนักวิทยาศาสตร์ และต้องทำให้คนไทยรู้และเข้าใจเรื่องของพายุสุริยะรอบด้าน”
ส่วนงานวิจัย “ฟิสิกส์อวกาศ: กัมมันตรังสีรอบโลก พายุสุริยะ รังสีคอสมิก และการขนส่งในพลาสมาปั่นป่วนในอวกาศ” เป็นการศึกษาเกี่ยวกับรังสีคอสมิกซึ่งเป็นอนุภาคพลังงานสูงที่เกิดจากพายุสุริยะ เพราะต่อให้พายุสุริยะไม่เคยฆ่ามนุษย์โดยตรง และไม่เคยทำให้สิ่งปลูกสร้างถล่ม แต่เคยทำให้ไฟฟ้าดับและเคยทำลายดาวเทียมและยานอวกาศที่ใช้สำหรับการสื่อสารหรือภารกิจอื่น ๆ ซึ่งถือว่างานวิจัยนี้ มีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องศึกษารังสีคอสมิกและพายุสุริยะ เพราะเมื่อมนุษย์ขึ้นเครื่องบินหรือขึ้นไปในอวกาศ รังสีคอสมิกอาจเป็นภัยต่อสุขภาพ ดาวเทียมและยานอวกาศได้รับผลกระทบโดยกัมมันตรังสีในอวกาศ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสภาพอวกาศที่แปรปรวนอย่างมากจากลมสุริยะและพายุสุริยะ นอกจากนั้นได้มีการพัฒนาโปรแกรมจำลองของรังสีคอสมิก เพื่อใช้ในการพยากรณ์ล่วงหน้าก่อนคลื่นกระแทกพายุสุริยะจะกระทบโลก
ศาสตราจารย์ พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล กล่าวต่อว่า มีความฝันอยากติดตั้งสถานีตรวจวัดนิวตรอนเพื่อวัดรังสีคอสมิกในประเทศไทย เพราะประเทศไทยมีค่าพลังงานขั้นต่ำที่รังสีคอสมิกผ่านสนามแม่เหล็กโลกได้สูงที่สุดในโลก โดยอนุภาคโปรตอนต้องมีพลังงานถึง 17 GeV จึงจะมาถึงประเทศไทยได้ ซึ่งผ่านไป 18 ปี ความฝันก็เป็นจริง เมื่อประเทศญี่ปุ่นได้บริจาคเครื่องตรวจวัดนิวตรอนให้ และที่น่าปลาบปลื้มที่สุด เมื่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานนามว่า สถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธร และกองทัพอากาศได้อนุญาตให้ติดตั้งสถานีฯ ที่ศูนย์ควบคุมและรายงานดอยอินทนนท์ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของประเทศไทย" ตอนนี้มีสถานีตรวจวัดนิวตรอน มี 40 แห่งทั่วโลก แต่ “สถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธร” ถือเป็นสถานีแรกของโลกที่สามารถวัดจำนวนรังสีคอสมิก ในประเทศไทย ปัจจุบันได้ร่วมทำวิจัยได้ร่วมกับหลายหน่วยงานภายใต้ โครงการ “Thai Space Consortium” เพื่อออกแบบและสร้างดาวเทียมวิจัยลำแรกของไทย
ศาสตราจารย์ พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้เยาวชนตั้งเป้าหมายให้ชีวิตของตัวเอง ถ้ารักในสิ่งใดก็ให้ทำในสิ่งนั้น ๆ ไม่ต้องตามกระแส เพราะว่าเด็กทุกคนไม่จำเป็นต้องเป็นหมอ ถ้าเด็กชอบจริง ๆ ก็อยากให้พ่อ แม่ ช่วยส่งเสริมให้เขาได้ทำในสิ่งที่เขารัก เด็กจะได้สร้างสรรค์ผลงานและสิ่งใหม่ ๆ ออกมาสู่สังคมได้