Last updated: 8 ม.ค. 2565 | 562 จำนวนผู้เข้าชม |
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดนิทรรศการ “ศาสตร์ศิลป์ในเสียง ART SCIENCE IN SOUND” ชวนสัมผัสเรื่องวิทยาศาสตร์และศิลปะผ่านเสียงอย่างสุนทรี เรียนรู้เรื่องราวของเสียงในมิติทางวิทยาศาสตร์ที่คุณอาจยังไม่เคยรู้ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นถึงความสำคัญของเสียงที่เข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนางานในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จัดแสดงตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เดอะสตรีท รัชดา ชั้น 5 ศูนย์การค้า เดอะ สตรีท รัชดา กรุงเทพฯ
รองศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีและโฆษกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานหลักที่ผลักดันงานในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ส่งเสริมสังคมไทยให้สนใจและเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อการพัฒนาประเทศ โดยการเรียนรู้ผ่านแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ทั่วประเทศ สำหรับนิทรรศการ “ศาสตร์ศิลป์ในเสียง ART SCIENCE IN SOUND” ชุดนี้จะสร้างประโยชน์ให้แก่เยาวชน และประชาชน รวมทั้งผลักดันให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่หันมาสนใจชื่นชอบวิทยาศาสตร์ เปลี่ยนมุมมองว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก น่าตื่นเต้น น่าเรียนรู้และเข้าใจได้ง่าย ผ่านกิจกรรมสนุกสนานที่ส่งเสริมการเรียนรู้ถึงความสำคัญของ ‘เสียง’ ที่เข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนางานในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในอนาคต”
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “สำหรับนิทรรศการ “ศาสตร์ศิลป์ในเสียง ART SCIENCE IN SOUND” เป็นนิทรรศการที่เล่าเรื่องราวของเสียงในมิติของความเป็นวิทยาศาสตร์ และเสียงในความเป็นศิลปะ จึงนำเสนอเนื้อหาที่เป็นทั้งวิทยาศาสตร์ และมีศิลปะแอบแฝงอย่างแยบยลอยู่ในการนำเสนอ ซึ่งนิทรรศการนี้อาจอยู่ในรูปแบบการออกแบบบรรยากาศที่แวดล้อมไปด้วยเสียง (Environment of Sound) อารมณ์และความรู้สึก (Mood and Tone) ในเชิงศิลปะที่มีความสวยงาม ขณะเดียวกันก็แทรกความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปด้วยเช่นกัน โดยไม่มีเกณฑ์กำหนดตายตัวเพื่อแบ่งขอบเขตของ “วิทยาศาสตร์” และ “ศิลปะ” พร้อมผสมผสานวิทยาศาสตร์และศิลปะได้อย่างมีสุนทรียะ เพื่อพาเราเดินทางไปทำความรู้จักกับอารมณ์และความรู้สึกได้อย่างชัดเจนมากขึ้น”
ภายในนิทรรศการฯ จะได้พบเรื่องราวมิติต่าง ๆ ของ “เสียง” ดังนี้
1. Introduction of International Year of Sound 2020-2021
สัมผัสประสบการณ์เสียงที่อยู่รอบตัวเรา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนโลก ผ่านอุโมงค์แห่งเสียงพร้อมแสงสี รวมถึงเรียนรู้และเข้าใจถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการจัดปีสากลแห่งเสียง ตามนโยบายของ ยูเนสโก (UNESCO)
2. ศาสตร์ของเสียง
เรียนรู้ความหมายของเสียงในทางฟิสิกส์ ได้แก่ การเกิดเสียง การสั่น สมบัติของเสียง คลื่นเสียง การแทรกสอดของคลื่นเสียง (Beats) การเลี้ยวเบน ความเข้มเสียง ระดับเสียง การกำทอน (Resonance) ปรากฏการณ์ดอปเปอร์คลื่นกระแทก (Sonic Boom) อัตราเร็วของเสียง การสะท้อนของเสียง การได้ยินเสียง อวัยวะการรับเสียงของมนุษย์
3. เสียง ความรู้สึกและสุนทรียภาพ
นำเสนอเรื่องราวของเสียงที่มีผลต่ออารมณ์และความรู้สึก รวมถึง ความหมายของเสียงในเชิง จิตสวนศาสตร์ (Psychoacoustics) พบกับชิ้นงานปฏิสัมพันธ์ที่สามารถจำแนกอารมณ์จากเสียงพูด และเสียงที่มีส่วนช่วยในการบำบัดร่างกายและจิตใจท่ามกลางสภาวะความเคร่งเครียดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
4. เสียงของเพื่อนร่วมโลก
พบเรื่องราวของเสียงในสัตว์สิ่งมีชีวิต การสื่อสารด้วยเสียงของสัตว์ ความหมายเสียงของสัตว์ในการสื่อสาร เสียงจากธรรมชาติ อาทิ เสียงไก่ขัน นกร้อง ย่านความถี่ของสัตว์ในการสื่อสาร เป็นต้น
5. คีตประยุกต์
เรียนรู้เทคโนโลยีที่นำเสียงมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การใช้คลื่นเสียงเพื่อการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ เครื่องช่วยขยายเสียงสำหรับคนหูหนวก การใช้เสียงเพื่อประโยชน์ทางทะเล (Underwater Acoustics) รวมถึงการหาตำแหน่งวัตถุโดยใช้เสียงสะท้อน (Echolocation)
นิทรรศการชุดนี้ นอกจากคุณจะได้เพลิดเพลินสนุกสนานและเข้าใจถึงเสียงที่อยู่รอบตัวเราจากการเดินทางไปกับเสียงและความงดงามพลิ้วไหวของเสียงในมิติทางศิลปะ เราจะได้พบว่า ‘เสียง’ ที่อยู่รอบตัวเรานั้นมัความสำคัญในชีวิตประจำวัน และยังสามารถต่อยอดเป็นงานวิจัยในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้มากมายในโลกของเราอีกด้วย
สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการฯ ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ ราคา 20 บาท นักเรียน นักศึกษา และผู้สูงอายุ เข้าฟรี! ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เดอะ สตรีท รัชดา (NSM Science Square @ The Street Ratchada) ชั้น 5 ศูนย์การค้า เดอะ สตรีท รัชดา กรุงเทพฯ เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 10.00-19.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์: 02 577 9999 ต่อ 2122-2123 หรือ 02 577 9970 หรือ Facebook: NSM Science Square @ The Street Ratchada