วช. หนุน ม.อ. พัฒนาชุดตรวจโรค”เมลิออยโดสิส”ในแพะ พร้อมพัฒนาคุณภาพน้ำนมให้เกษตรกร

Last updated: 27 ธ.ค. 2564  |  298 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วช. หนุน ม.อ. พัฒนาชุดตรวจโรค”เมลิออยโดสิส”ในแพะ พร้อมพัฒนาคุณภาพน้ำนมให้เกษตรกร


วช. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม โครงการวิจัยและพัฒนารูปแบบการตรวจวิเคราะห์โรคเมลิออยโดสิสในแพะ ภายใต้แผนงานวิจัย พัฒนาและขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะของภาคใต้ ปีที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) เพื่อให้เกษตรกรใช้ตรวจหาโรคในแพะ เพื่อป้องกันการเสียชีวิต พร้อมทั้งการพัฒนาคุณภาพน้ำนมของเกษตรกร ณ จังหวัดพัทลุง ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานบริหารทุนวิจัย พร้อมด้วยหน่วยงานมหาวิทยาลัยชั้นนำของภาคใต้ ได้ปักหมุดหมายการยกระดับเศรษฐกิจภาคใต้ด้วยวิจัยและนวัตกรรมมาระยะหนึ่งแล้ว ตั้งเป้าหมายให้เกิดผลผลิตพร้อมใช้ และความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม เช่นเดียวกับ ผลงานการวิจัยเพื่อยกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ ซึ่งขับเคลื่อนโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นับเป็นการหนุนเสริมให้เกิดการยกระดับด้านสัตว์เศรษฐกิจภาคใต้ให้มีความมั่นคงได้

ผศ.ดร.วรรณรัตน์ แซ่ซั่น อาจารย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า เชื้อเมลิออยโดสิส เป็นเชื้อแบคทีเรียกรัมลบ ซึ่งอาศัยอยู่ได้ทั้งในดิน น้ำ และแทรกตัวอยู่ในพืชที่ใช้เป็นอาหารให้กับแพะ แพะจึงสามารถสามารถติดเชื้อได้ง่าย และเป็นพาหะสู่คนเลี้ยง หากรักษาไม่ทันอาจทำให้เสียชีวิตได้ทั้งคนและแพะ โดยนักวิจัยคณะสัตวแพทยศาสตร์ ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ ม.อ. และศูนย์ CDC เพื่อพัฒนาชุดทดสอบที่สะดวกรวดเร็ว และมีความแม่นยำ ใน 3 ชุดรูปแบบ คือ ชุดตรวจ IHA (Indirect hemagglutination assay) เพื่อหาตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเมลิออยโดสิสให้แพะ การพัฒนาชุดตรวจ antigen ด้วยวิธี Lateral flow agglutination test เพื่อตรวจหาการติดเชื้อแบบเฉียบพลัน และการพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยเชื้อด้วยเทคนิค RT-PCR จากตัวอย่างปัสสาวะ หรือเลือดของแพะ

ขณะนี้อยู่ในช่วงทดสอบความแม่นยำ ความรวดเร็ว (sensitivity) ของชุดตรวจทุกรูปแบบ ให้มีความสำเร็จรูปพร้อมใช้ เพื่อกระจายให้กับเกษตรกร โดยภาคใต้ได้มีการทำวิจัยเรื่องโรคเมดิออยโสิส ทั้งในคนและในสัตว์ เนื่องจากอัตราการเกิดโรคในแพะสู่คนในภาคใต้ พบว่ามีจำนวนเคสเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน รวมทั้งมองหาแนวทางการตรวจด้วยวิธีอื่นแทนการตรวจจากเลือด อาทิ น้ำลาย เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้จะช่วยสร้างความมั่นคง และมาตรฐานอุตสาหกรรมการเลี้ยงแพะของเกษตรกรให้มีคุณภาพ


ขณะเดียวกัน คณะทำงานดำเนินการขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านสัตว์เศรษฐกิจ : ยกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ วช. นำโดย รศ.ดร.สุชน ตั้งทวีวิพัฒน์ ประธานคณะทำงานฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผลการดำเนินกิจกรรมการวิจัย เรื่อง”การศึกษาและพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงแพะนมและการผลิตน้ำนมแพะของเกษตรกรในภาคใต้” ของ ดร.ปิตุนาถ หนูเสน จากคณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ. ร่วมกับ นายสันติ หมัดหมัน จากคณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ภายใต้แผนงานวิจัยดังกล่าว ที่ศุภกิจฟาร์ม จังหวัดพัทลุง ในการปรับเปลี่ยนสูตรอาหารแพะ การการตรวจวิเคราะห์เพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำนม สามารถต่อยอดเป็นน้ำนมดิบ สบู่ โลชั่น คุณภาพ สู่การพัฒนาเป็นนมพาสเจอร์ไรส์ มาตรฐาน GMP ร่วมกับ ม.อ. อีกด้วย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้