Last updated: 14 ต.ค. 2564 | 470 จำนวนผู้เข้าชม |
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี (จภ.ปท.) คว้ารางวัลเหรียญทอง จากการประกวดในเวทีนานาชาติงาน “The Innovation Week in Africa (IWA 2021) ณ ประเทศโมร็อกโก” จากการนำขยะทางการเกษตรมาพัฒนาเป็นถุงตอนกิ่งที่ให้ธาตุอาหารกับต้นไม้ได้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนผลงานสิ่งประดิษฐ์
“ถุงตอนกิ่งสำหรับมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง” ของ นายพรหมพิริยะ ขัตติยวงษ์, นายนรากรณ์ ธนิกกุล, นายจิราวัฒน์ศรีศิลป์โสภณ, นายอชิตพล จินดาพรรณ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และนายขุนทอง คล้ายทอง อาจารย์ที่ปรึกษา แห่ง โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี เข้าร่วมประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ ในงาน The Innovation Week in Africa (IWA 2021) ณ ประเทศโมร็อกโก” ในรูปแบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 8-12 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา นายพรหมพิริยะ ขัตติยวงษ์ เปิดเผยว่าประเทศไทยและทั่วโลก หันมานิยมบริโภคมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรเริ่มสนใจปลูกมะม่วงพันธุ์นี้มากขึ้นด้วยเช่นกัน จากการศึกษาพบว่า เกษตรกรนิยมใช้พลาสติกเป็นวัสดุห่อหุ้มวัสดุปลูก แต่เมื่อแกะถุงพลาสติกออกจะเกิดการกระทบกระเทือนรากส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโต อีกทั้งพลาสติกเหล่านั้นยังไม่สามารถนำไปใช้ต่อได้จึงกลายเป็นขยะตามมา และเมื่อพิจารณาถึงปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดจากเกษตรกรพบว่ามีจำนวนมากถึง 500 ล้านตันต่อปี จากปัญหาดังกล่าว สมาชิกในกลุ่มจึงมีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาทั้งสอง พร้อมกันนี้ยังมีแนวคิดเพิ่มคุณสมบัติพิเศษในการเพิ่มสารอาหารที่ช่วยให้เกิดการเจริญเติบโตที่ดี
สำหรับกระบวนการผลิตถุงตอนกิ่ง เริ่มจากนำแป้งมันสำปะหลังมาผสมกับสารช่วยขึ้นรูป และได้เพิ่มคุณสมบัติของกากกาแฟและขี้เถ้าแกลบลงไป เนื่องจากกากกาแฟมีองค์ประกอบของแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของราก เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม รวมถึงยังมีสารที่สามารถขับไล่แมลงได้หลายชนิดในเวลาเดียวกัน ส่วนขี้เถ้าแกลบก็ประกอบด้วยแร่ธาตุหลายชนิด เช่น ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และแมกนีเซียม อีกทั้งยังเสริมความแข็งแรงให้กับถุงตอนกิ่ง พอถุงตอนกิ่งสำเร็จ นักเรียนได้นำไปทำการทดสอบค่ามาตรฐานต่าง ๆ จนพบว่าถุงตอนกิ่งที่ผลิตขึ้น มีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการนำไปใช้ได้จริง ซึ่งผลงานดังกล่าวอยู่ระหว่างการต่อยอดที่จะขยายสเกลการผลิตที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งอาจจะช่วยในการเพิ่มทางเลือกของเกษตรกรในอนาคตได้
ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้ส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยในการนำผลงานที่มีคุณภาพและมีศักยภาพด้านการวิจัยและด้านการประดิษฐ์คิดค้น เข้าร่วมแสดงนิทรรศการและประกวดผลงานในเวทีระดับนานาชาติ นั้น ทำให้ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมของคนไทยที่ไปเผยแพร่ เป็นที่รู้จักสามารถนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดผลงานให้ได้มาตรฐานเกิดการยอมรับในทางการตลาดและก้าวสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป