Last updated: 25 ก.พ. 2564 | 618 จำนวนผู้เข้าชม |
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนติดตั้งอุปกรณ์ติดตามด้วยเทคโนโลยีดาวเทียมบนตัวเหยี่ยวดำไทยเพื่อศึกษาเส้นทางอพยพระหว่างประเทศ หลังพบนกเหยี่ยวชื่อ “นาก” ที่เกิดใน อ.ปากพลี จ.นครนายก อพยพผ่านเส้นทางเมียนมาร์ บังคลาเทศ และไปอาศัยอยู่ที่อินเดีย
ผศ.น.สพ.ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว หน่วยวิจัยนกนักล่าและเวชศาสตร์การอนุรักษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัยนิเวศวิทยาของเหยี่ยวดำชนิดย่อยประจำถิ่นในประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
สาธิตเทคนิคการติดอุปกรณ์ติดตามด้วยดาวเทียมบนตัวเหยี่ยวดำไทย และเทคนิคการติดตามเหยี่ยวดำไทยระหว่างประเทศด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม เพื่อศึกษาเส้นทางอพยพ ณ สถาบันเกษตรอินทรีย์อาชีพแบบพอเพียง ต.ท่าเรือ อ.ปากพลี จ.นครนายก เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564
การติดอุปกรณ์ติดตามด้วยดาวเทียมบนตัวเหยี่ยวดำไทยหรือเหยี่ยวดำชนิดย่อยประจำถิ่นในประเทศไทย เพื่อศึกษาเส้นทางอพยพเพิ่มเติมหลังจากนักวิจัยพบว่า เหยี่ยวดำเพศผู้ชื่อนาก รหัส R96 ซึ่งเกิดที่ อ.ปากพลี จ.นครนายก และได้รับการติดตั้งอุปกรณ์ติดตามด้วยดาวเทียม อพยพผ่านเส้นทางเมียนมาร์ บังคลาเทศ และไปอาศัยอยู่ในรัฐคานัทฑะกะ ประเทศอินเดียขณะนี้ รวมระยะทางอพยพประมาณ 4,000 กิโลเมตร ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของอาเซียนในการติดอุปกรณ์ติดตามดังกล่าวให้เหยี่ยวดำไทย และยังได้พบข้อมูลใหม่เกี่ยวกับเส้นทางอพยพของเหยี่ยวดำไทย ซึ่งเดิมเข้าใจว่าเป็นนกประจำถิ่นและอาศัยอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น ในปี พ.ศ. 2564 นี้ทีมวิจัยจึงมีแผนติดตามเหยี่ยวดำไทยด้วยดาวเทียมเพิ่มอีก 6 ตัว
ทั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของโลกในการติดอุปกรณ์ติดตามด้วยดาวเทียมให้เหยี่ยวดำไทย ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า มิลวัส ไมแกรนส์ โกวินทะ (Milvus migrans govinda) เนื่องจากก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีการศึกษาเหยี่ยวดำชนิดย่อยโกวินทะด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม แต่มีทีมนักวิจัยอินเดียใช้เทคโนโลยีดาวเทียมศึกษาเหยี่ยวดำชนิดย่อยอีกชนิดคือ เหยี่ยวดำอพยพ หรือ เหยี่ยวดำใหญ่ หรือ เหยี่ยวหูดำ ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า มิลลัส ไมแกรนส์ ลิเนียตัส (Milvus migrans lineatus)
ข้อมูลจาก ผศ.น.สพ.ดร.ไชยยันต์ ระบุว่า เหยี่ยวดำไทยกระจายพันธุ์ในอนุทวีปอินเดีย ได้แก่ ปากีสถาน อินเดีย และเนปาล และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และไทย ยกเว้นมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ สำหรับในประเทศไทยพบการกระจายพันธุ์ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางลงไปถึง จ.เพชรบุรี โดยพื้นที่วิจัยของโครงการวิจัยนิเวศวิทยาของเหยี่ยวดำไทยอยู่ใน จ.นครนายก จ.อ่างทอง และ จ.เพชรบุรี
สถานภาพการอนุรักษ์เหยี่ยวดำไทยอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากภัยคุกคามจากการล่าลูกเหยี่ยวไปขายในวงการค้าสัตว์ป่า รวมทั้งต้นไม้สำหรับทำรังลดลง นอกจากนี้ยังไม่มีการศึกษานิเวศวิทยาการสืบพันธุ์ของเหยี่ยวดำไทยที่ทำรังวางไข่ในประเทศไทยและอาเซียนอย่างละเอียดเป็นระบบ ซึ่งการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมจะช่วยตอบโจทย์วิจัยกรณีการอพยพย้ายถิ่นของเหยี่ยวดำไทยตามฤดูกาลเป็นครั้งแรกของอาเซียน และเส้นทางอพยพของนกเหยี่ยวชื่อนากยังเป็นครั้งแรกของโลกที่พบการอพยพจากเส้นทางทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก แตกต่างจากเส้นทางอพยพทั่วไปที่ย้ายถิ่นจากทิศเหนือลงทิศใต้
เหยี่ยวดำไทยมีขนาดตัวจากจะงอยปากจรดปลายหาง 510 – 600 เซ็นติเมตร โดยตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ มีน้ำหนักตัวประมาณ 500 – 800 กรัม อาหารของเหยี่ยวดำไทย ได้แก่ หนูนา ปลา งู คางคก ลูกนกน้ำ เช่น นกกวัก ซึ่งนักวิจัยจะใช้ข้อมูลใหม่ด้านนิเวศวิทยาและการอพยพสร้างความตระหนักให้เกิดความสนใจต่อพฤติกรรมเดินทางไกลของเหยี่ยว และให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของเหยี่ยวดำในฐานะทรัพยากรธรรมชาติ
พร้อมกันนี้ทีมวิจัยจะใช้ข้อมูลดังกล่าวจัดทำเป็นชุดความรู้ โดยจะจัดทำสื่อการเรียนรู้สำหรับเยาวชนและสาธารณะในรูปแบบแอปพลิเคชันสำหรับสมาร์ทโฟน และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ แล้วส่งมอบให้แก่ชุมชนและโรงเรียนต่าง ๆ ฟรี เพื่อส่งเสริมศักยภาพของชุมชนปากพลีให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ก่อเกิดรายได้ให้ชุมชน และเหยี่ยวดำได้รับการคุ้มครองไปด้วย ซึ่งจะเป็นต้นแบบของการอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างยั่งยืนโดยชุมชนมีส่วนร่วม
ทางด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้ อว. ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมและสนับสนุนในการพัฒนางานิวัจยและนวัตกรรม เพื่อสร้างองค์ความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรม ควบคู่ไปกับการต่อยอดงานวิจัยในทุกระดับ สำหรับประโยชน์จากโครงการวิจัยนิเวศวิทยาของเหยี่ยวดำชนิดย่อยประจำถิ่นในประเทศไทยนั้นคาดว่าจะทำให้ทราบนิเวศวิทยาของเหยี่ยวดำชนิดย่อยประจำถิ่นในประเทศไทย อันจะนำไปสู่การจัดการเพื่อแก้ปัญหาแนวโน้มการลดลงของประชากร และทราบถึงสถานภาพที่แท้จริงในปัจจุบันของเหยี่ยวดำชนิดนี้ และเผยแพร่สู่การเรียนรู้สู่ชุมชนเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีอยู่เหยี่ยวดำชนิดนี้ และสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเพื่อเพิ่มศักยภาพสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์