วช. พร้อมบริหารโครงการวิจัยและนวัตกรรมจาก สกว. (เดิม) เดินหน้าต่อ 4,000 โครงการ

Last updated: 24 เม.ย 2563  |  562 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วช. พร้อมบริหารโครงการวิจัยและนวัตกรรมจาก สกว. (เดิม) เดินหน้าต่อ 4,000 โครงการ

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะหน่วยงานบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ให้เข้าบริหารโครงการวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. เดิม เพื่อให้โครงการวิจัย เดินหน้าตามแผนงานวิจัย โดยทยอยรับมอบหมายการบริหารโครงการตั้งแต่ 20 เมษายน 2563 และครบถ้วนทุกโครงการภายใน 15 มิถุนายน 2563 นี้

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้จัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขึ้น วช. ได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญให้เป็นหน่วยงานหลักด้านการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พร้อมกันนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. เดิม ได้ปรับเปลี่ยนเป็นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งไม่ได้มีบทบาทหน้าที่ในการให้ทุนและบริหารทุนวิจัย  แต่ยังมีโครงการวิจัยและนวัตกรรมในภาระหน้าที่ สกว. เดิม ที่ได้ให้ทุนแก่นักวิจัยและหน่วยงานวิจัยที่ยังดำเนินการอยู่ ดังนั้น เพื่อให้โครงการดำเนินการต่อไปได้ คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 และครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 จึงมีมติให้ สกสว. มอบหมายภารกิจบริหารโครงการวิจัยที่ยังคงค้างและดำเนินการทั้งหมดให้ วช. ดำเนินการบริหารโครงการ โดยยึดสัญญาเดิม ประกอบด้วยโครงการที่ วช. ได้รับมอบหมายให้บริหารจัดการ ได้แก่

1. โครงการจากกลุ่มภารกิจ R&D, กลุ่มภารกิจพื้นฐานและการพัฒนานักวิจัย งานโครงการด้านเศรษฐกิจและสังคม และอื่นๆ

2. โครงการจากฝ่ายวิชาการ

3. โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.)

4. โครงการพัฒนาวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.)

และโครงการอื่น ๆ ซึ่งมีจำนวนรวมมากกว่า 4,000 โครงการ โดยก่อนหน้านี้ วช. ได้รับแผนงานวิจัยและนวัตกรรม ปีงบประมาณ 2563 บางส่วนแล้ว และบางส่วนยังรองบประมาณที่ สกสว. จะถ่ายโอนงบของปี 2563 ต่อไป ดังนั้น จึงขอแจ้งให้ประชาคมวิจัยและเครือข่ายวิจัยทั่วประเทศได้รับทราบ และ วช. ให้ความมั่นใจว่า โครงการต่าง ๆ จะดำเนินการบริหารจัดการตามเป้าหมายและแผนงาน โดยไม่มีผลกระทบต่อนักวิจัยและโครงการวิจัยต่อเนื่อง ในการนี้ สกสว. กำลังถ่ายโอนข้อมูลโครงการ พร้อมทั้งกรอบงบประมาณมาที่ วช. ตามมติของ กสว. ซึ่ง วช. ได้เตรียมความพร้อมของระบบการบริหารโครงการวิจัยและทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งการวางระบบดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว พร้อมดำเนินการต่อ เมื่อได้รับข้อมูลโครงการและงบประมาณ

นอกจากนี้ วช. ได้รับมอบหน้าที่ให้ดำเนินการตามหน้าที่ที่ระบุในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ๒๕๖๒ ในการดูแลและพัฒนาระบบสารสนเทศการวิจัยและนวัตกรรมกลางของประเทศ โดยได้จัดทำระบบ National Research and Innovation Information System (NRIIS) (เอ็นอาร์ไอไอเอส) ขึ้น เพื่อบริหารภาพรวมของการวิจัยและนวัตกรรม โครงการวิจัย นักวิจัย แผนงานวิจัย และโครงสร้างพื้นฐานของระบบวิจัยและโครงการผ่านระบบ NRIIS เป็นระบบกลางของประเทศ ซึ่งมีการปรับโครงสร้างและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างระบบบริหารจัดการงานวิจัยแห่งชาติ (National Research Management System หรือ NRMS) ที่พัฒนาร่วมกับเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ให้เป็นระบบหลักที่มีเอกภาพ มีความปลอดภัยและสิทธิ์การเข้าถึงระบบอย่างถูกต้อง และไม่สร้างความสับสนให้แก่ผู้ใช้งาน โดยภาพรวมจากการออกแบบการใช้ข้อมูลของระบบมีหลายมิติ ทั้งมิติเนื้อหา มิติด้านการเงิน มิติด้านบุคคล และมิติด้านหน่วยงาน เช่น การสนับสนุนงบประมาณของแผนงาน/โครงการ พร้อมรายละเอียด และการจัดกลุ่มตาม Program/Platform/Flagship/แผนงาน/Key Result ซึ่งครอบคลุมถึงแผนที่นำทางด้านนโยบาย  การบริหารจัดการโครงการ การติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงาน รวมถึงการขยายผลการพัฒนาระบบข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการวิจัยที่ไม่ใช่โครงการวิจัย อาทิ การพัฒนาบุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น และการเก็บข้อมูลต่อเนื่องหลังจากการส่งรายงานการวิจัยแล้ว สามารถรายงานประเภทต่าง ๆ ที่สามารถแสดงข้อมูลได้ทันที โดยใช้ข้อมูลของงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเชื่อมโยงกับหน่วยงานทุกระดับทั้งระดับนโยบาย การจัดสรรงบประมาณ การให้ทุน และการปฏิบัติงานวิจัยและนวัตกรรม โดยมี วช. เป็นผู้ดูแลระบบ NRIIS และได้ดำเนินการแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๖๓

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้