Last updated: 14 ม.ค. 2563 | 572 จำนวนผู้เข้าชม |
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (14 มกราคม 2563) ไฟเขียวควบรวมกิจการ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นที) พร้อมเห็นขอบให้ทั้งสองหน่วยงานร่วมประมูล 5จี
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (14 มกราคม 2563) มีมติเห็นชอบการควบรวมกิจการ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือทีโอที กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (เอ็นที) โดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้น 100% พร้อมมอบหมายให้กระทรวงฯ ดำเนินการตามกรอบเวลาที่กำหนด โดยต้องควบรวมทั้ง 2 บริษัทให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน
นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติเห็นชอบให้ ทีโอที และ กสท โทรคมนาคมเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่สำหรับให้บริการ 5จี ตามเงื่อนไขประกาศของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่เกี่ยวข้อง
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า จุดแข็งของการควบรวมนี้ จะช่วยให้เกิดการผสานศักยภาพสร้างความพร้อมให้กับรัฐวิสาหกิจด้านสื่อสารของประเทศไทย เพื่อรับมือการแข่งขันในอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงการสิ้นสุดสัมปทานถือครองคลื่นความถี่ในปี 2568 ซึ่งทั้งสองหน่วยงาน จะไม่เหลือคลื่นความถี่ในมือเลย อีกทั้ง เป็นการสร้างโอกาสของการไปสู่ธุรกิจในอนาคตร่วมกัน ซึ่งรวมถึงธุรกิจ 5จี ซึ่ง กสทช. เตรียมเปิดประมูลคลื่นความถี่ในราวกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้
ส่วนขั้นตอนหลังจากผ่านมติ ครม. จะมีการว่าจ้างที่ปรึกษา 3 ด้าน เพื่อให้ทำการศึกษาและจัดทำแผน
ใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านกฎหมาย ด้านการควบรวมกิจการ และด้านทรัพยากรบุคคล ทำการศึกษา และกำหนดทิศทางในการดำเนินงานภายหลังการควบรวมกิจการ คาดว่าจะใช้เวลาอีกราว 6 เดือน กระบวนการควบรวมจึงจะแล้วเสร็จสมบูรณ์
ด้านโครงสร้างหลังการควบรวม บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด แบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 5 สายงาน ได้แก่ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (Hard Infrastructure) ธุรกิจโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International) ธุรกิจบริการโทรศัพท์ประจำที่และบรอดแบนด์ (Fixed Line & Broadband)
ธุรกิจโทรคมนาคมสื่อสารไร้สาย (Mobile) และธุรกิจ Digital Infrastructure And Services