เจาะเรื่องราว "ศรีปราชญ์" กวีเอกผู้ถูกเนรเทศ พี่ชายพระเอกใน บุพเพสันนิวาส

Last updated: 4 พ.ย. 2562  |  699 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เจาะเรื่องราว "ศรีปราชญ์" กวีเอกผู้ถูกเนรเทศ พี่ชายพระเอกใน บุพเพสันนิวาส

เปิดเรื่องราว ศรีปราชญ์ กวีเอกในสมัยพระนารายณ์มหาราช ผู้มีศักดิ์เป็นพี่ชายพระเอกในละคร บุพเพสันนิวาส กับโคลงบทสุดท้ายอันโด่งดัง

          จากกระแสฮิตของละคร บุพเพสันนิวาส ทำให้หลายคนหันมาสนใจความเป็นมาของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ โดยหนึ่งในตัวละครที่กำลังจะมีบทบาทนั้นได้แก่ ศรีปราชญ์ กวีเอกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งรับบทโดย ดรีม ณฐณพ ชื่นหิรัญ  และเพื่อให้ได้เรื่องราวที่ครบถ้วน เราขอพาย้อนไปศึกษาประวัติและเรื่องราวของกวีเอกที่ชื่อว่า ศรีปราชญ์ ไว้ในโอกาสนี้

          ศรีปราชญ์ เป็นบุตรของพระโหราธิบดี เกิดในปี พ.ศ. 2196 หรือ 3 ปี ก่อนที่สมเด็จพระนารายณ์เสด็จขึ้นครองราชย์แทนสมเด็จศรีสุธรรมราชา โดยในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถือได้ว่าเป็น ยุคทองของวรรณคดี ครั้งหนึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหราชทรงแต่งโคลงได้เพียง 2 บาท หรือสองบรรทัดเท่านั้น ก็ทรงติดขัด จึงทรงพระราชทานแผ่นกระดานชนวนที่ทรงแต่งบทโคลงนั้นให้แก่พระยาโหราธิบดี เพื่อนำไปแต่งต่อให้จบ

          เมื่อ พระโหราธิบดี รับบทโคลงที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงแต่งค้างเอาไว้แล้ว ก็ไม่สามารถจะแต่งต่อได้ จึงขอพระราชทานเอาไว้แต่งต่อที่บ้าน แต่ขณะที่ไปอาบน้ำบุตรชายชื่อ ศรี ในวัย 9 ขวบ ได้เจอกระดานชนวน ด้วยความซุกซนและเฉลียวฉลาด จึงเขียนแต่งต่ออีก 2 บาท เมื่อ พระโหราธิบดี ได้อ่านก็รู้สึกประทับใจ และนำกลอนไปถวาย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พร้อมกับกราบเรียนว่าเป็นผลงานการแต่งของลูกชาย ทำให้ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พอพระราชหฤทัยมาก และทรงเรียกตัว ศรี เข้ารับราชการ แต่ทางพระโหราธิบดี ร้องขอว่าให้บุตรชายของตนเจริญวัยขึ้นมาก่อนก็จะพามาถวายตัวรับใช้เบื้องพระยุคลบาท

          ต่อมาเมื่ออายุได้ 15 ปี ศรี ได้เรียนรู้สรรพวิทยาการต่าง ๆ จากผู้เป็นพ่อจนหมดสิ้นแล้ว ก็ตกลงที่จะเข้าไปรับราชการในวัง แต่ก่อนที่จะนำบุตรชายเข้าถวายตัวนั้น พระยาโหราธิบดี ได้ขอพระราชทานคำสัญญาจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช 1 ข้อ คือ หาก ศรี ได้กระทำความผิดใด ๆ ที่ไม่ใช่ความผิดต่อราชบัลลังก์ ขอให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงละเว้นโทษประหารชีวิต ขอเพียงแต่ให้เนรเทศไปให้พ้นจากเมือง ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ทรงพระราชทานสัญญานั้น พร้อมแต่งตั้งให้ ศรี รับตำแหน่งมหาดเล็กรับใช้ใกล้ชิดพระองค์ 

          ที่มาของชื่อว่า ศรีปราชญ์ สืบเนื่องจากครั้งที่ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงแต่งโคลงกลอน ขึ้นมาบทหนึ่ง แล้วให้บรรดาเหล่าข้าราชบริพารตลอดจนนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลายที่เข้าเฝ้าฯ ณ ที่นั้น ช่วยกันแต่งต่อ แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดแต่งโคลงกลอนได้ดีและถูกพระราชหฤทัยพระองค์เทียบเท่ากับของ ศรี สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงทรงให้บำเหน็จด้วยการพระราชทานพระธำมรงค์ให้และตรัสว่า "เจ้าศรี เจ้าจงเป็นศรีปราชญ์ ณ บัดนี้เถิด"

           ศรีปราชญ์ ได้รับราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทอยู่หลายปี จนกระทั่งเป็นหนุ่มฉกรรจ์ และด้วยนิสัยเจ้าชู้ตามอารมณ์ของกวี บวกกับความคึกคะนอง และถือตัวว่าเป็นคนโปรดของพระนารายณ์มหาราช จึงทำให้ศรีปราชญ์ต้องโทษถึงกับติดคุกหลายครั้ง ด้วยมักไปทำรุ่มร่ามแต่งโคลงเกี้ยวพาราสีบรรดาสาวใช้ในวัง แต่พอพ้นโทษมาก็ไม่เข็ดหลาบ มีอยู่ครั้งหนึ่งศรีปราชญ์อาจกล้าถึงขั้นไปเกี้ยวพาราสีพระสนมเอกคือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ โดยแต่งโคลงเพลงยาว ทำให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชกริ้วมาก ถึงกับจะสั่งประหารชีวิต แต่ด้วยสัญญาที่พระราชทานไว้ จึงทำได้เพียงเนรเทศศรีปราชญ์ไปเมืองนครศรีธรรมราช

          ในระหว่างการเนรเทศเดินทางไปยังเมืองนครศรีธรรมราช ศรีปราชญ์  ก็ได้รับการชื่นชมจากเจ้าเมืองในทักษะด้านกวี ทำให้มีคนหมั่นไส้และเคืองแค้น จึงได้ใส่ร้ายศรีปราชญ์ ว่าลักลอบเป็นชู้กับภริยาของพระยานคร พระยานครหลงเชื่อจึงสั่งให้นำตัวศรีปราชญ์ไปประหารชีวิต ศรีปราชญ์ประท้วงโทษประหารชีวิตแต่ท่านเจ้าเมืองไม่ฟัง และก่อนที่เพชฌฆาตจะลงดาบประหารศรีปราชญ์ได้ขออนุญาตเขียนโคลงบทสุดท้ายไว้กับพื้นธรณีว่า...

                          ธรณีนี่นี้            เป็นพยาน

          เราก็ศิษย์มีอาจารย์           หนึ่งบ้าง

           เราผิดท่านประหาร           เราชอบ

            เราบ่ผิดท่านมล้าง           ดาบนี้ คืนสนอง

          หลังจากที่ ศรีปราชญ์ ตาย อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อพระนารายณ์มหาราชทรงแต่งโคลงกลอนติดขัดหาคนแต่งต่อให้ถูกพระราชหฤทัยไม่ได้ ก็ทรงระลึกถึงศรีปราชญ์ ก็ตรัสสั่งให้มีหนังสือเรียกตัวกลับ เมื่อพระองค์ทรงทราบข่าวว่า ตอนนี้ศรีปราชญ์ได้จากโลกนี้ไปแล้ว ด้วยต้องโทษประหารจากเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ก็ทรงพระพิโรธ และตรัสสั่งให้นำเจ้าพระยานครศรีฯ ไปประหารชีวิตด้วยดาบเล่มเดียวกันกับที่ประหารศรีปราชญ์นั่นเอง สมดังคำที่ศรีปราชญ์เขียนไว้เป็นโคลงบทสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิตว่า "ดาบนี้คืนสนอง"



 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้