หอการค้าไทย-สหรัฐฯ ย้ำความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ยาวนาน มุ่งเน้นเศรษฐกิจดิจิทัลและการลงทุน

Last updated: 5 มิ.ย. 2567  |  127 จำนวนผู้เข้าชม  | 

หอการค้าไทย-สหรัฐฯ ย้ำความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ยาวนาน มุ่งเน้นเศรษฐกิจดิจิทัลและการลงทุน


หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับ หอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (AMCHAM) และหอการค้า ประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. Chamber of Commerce) จัดงาน Thailand – U.S. Trade and Investment Conference 2024 : Building on a Longstanding หวังแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจ และส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา พร้อมหารือโอกาสและความท้าทายในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีศักยภาพระหว่างกัน มีผู้แทนระดับสูงจากหน่วยภาครัฐและภาคเอกชนของไทยและสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมกว่า 200 ท่าน ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมเป็นเกียรติกล่าวสุนทรพจน์ ช่วงเปิดงาน ซึ่งได้เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์และขอบคุณการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจมาอย่างยาวนานระหว่างไทยและสหรัฐฯ โดยภาครัฐของของไทยมุ่งมั่น
ที่จะมีส่วนร่วมกับสหรัฐฯ ทั้งในระดับทวิภาคีและผ่านความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก เพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนให้มากยิ่งขึ้น


นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ Kurt Campbell และอุปทูต Gwendolyn Cardno จากสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศ ตลอดจน
ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ยังได้กล่าวถึงแนวโน้มการเข้ามามีบทบาทสำคัญของดิจิทัลและเทคโนโลยีในปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งทั้งสองประเทศสามารถใช้โอกาสในการ
เป็นประเทศหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญระหว่างกันพัฒนาความร่วมมือในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบดิจิทัลร่วมกันให้มากยิ่งขึ้นได้


นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาถือว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีกันอย่างยาวนาน และมีความมุ่งมั่นที่จะสานต่อความสัมพันธ์นี้ต่อไป ถึงแม้ว่าที่ผ่านมา
โลกจะเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ เช่น การแข่งขันทางเศรษฐกิจอย่างดุเดือด ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ภัยคุกคามจากสงครามและการแพร่ระบาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการใช้งานเทคโนโลยีอย่างผิดวัตถุประสงค์ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นต้น แต่จากความร่วมมือที่ดีกว่า 190 ปี ประเทศไทยยังคงให้ความสำคัญ ไว้วางใจ และสนับสนุนสหรัฐอเมริกา ทั้งในภาครัฐและเอกชน ประเทศไทยเองทั้งภาครัฐและเอกชนมีความชัดเจนในการมุ่งเน้นที่จะพัฒนาและสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ โดยใช้อุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียงระดับโลกเป็นฐาน เพื่อจะพาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง 
และเพื่อเตรียมพร้อมเติบโตไปกับเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะนวัตกรรมและการลงทุนของผู้ประกอบการจากสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ Startup ไปจนถึงบริษัทใหญ่ที่มีชื่อเสียง


“ขณะนี้มีชาวอเมริกันเชื้อสายไทยมากกว่าครึ่งล้านคนที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา และมากกว่า 350,000 คนจะต้องลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งที่มีความสำคัญที่สหรัฐอเมริกาในเดือนพฤศจิกายนนี้ อีกทั้ง นักเรียนไทยที่มีศักยภาพหลายพันคนกำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยในอเมริกา ในทางกลับกัน ชาวอเมริกันกว่าหนึ่งแสนคนก็กำลังอาศัยและทำงานอยู่ในประเทศไทย และมีผู้คนหลายล้านคนเดินทางไปมาระหว่างสองประเทศ การสื่อสารดิจิทัลไร้พรมแดนในสื่อสังคมออนไลน์กำลังสร้างผลกระทบที่ไม่อาจวัดได้ต่อพฤติกรรมทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมอย่างปฏิเสธไม่ได้” นายสนั่นกล่าว


จากการร่วมกันจัดงานดังกล่าวผู้นำทั้งสามหอการค้า ได้แก่ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คุณสนั่น อังอุบลกุล, ประธานหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย คุณอรกัญญา พิบูลธรรม, และผู้อำนวยการบริหารเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ หอการค้าสหรัฐอเมริกา Mr. John Goyer ได้ร่วมกันเน้นย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศไทย และสหรัฐฯ ซึ่งจากการที่ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์และความร่วมมือใกล้ชิดกันมาอย่างยาวนาน จะเป็นการช่วยส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการค้าและการลงทุน ควบคู่ไปกับการร่วมกันพัฒนาความร่วมมือด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี ดิจิทัล เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมยุคใหม่ในอนาคตได้อย่างยั่งยืน


ทั้งนี้ ภายในงานมีการหารือแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์จากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทภาคเอกชนชั้นนำของไทยและสหรัฐฯ ผ่านการเสวนาภายใต้หัวข้อต่าง ๆ ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งมีสาระสำคัญครอบคลุมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการปกป้องข้อมูล รวมถึงความท้าทายด้านกฎหมาย กฎระเบียบและการมีบทบาทของเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและรัฐบาลในการกำหนดภูมิทัศน์ดิจิทัลในอนาคต
การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่อนาคต การส่งเสริมเร่งรัดนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) รวมทั้ง การพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจยุคอนาคต




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้