Last updated: 4 พ.ย. 2566 | 193 จำนวนผู้เข้าชม |
กรุงเทพฯ 3 พฤจิกายน 2566 – SPACEBAR จัดงานเสวนา SOFT POWER ฝันไกลไปได้แค่ไหน? เปิดเวทีระดมความคิดเห็นบุคลากรหลากหลายวงการ มาร่วมสะท้อนมุมมอง กับแนวคิดนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล ที่จะผลักดัน SOFT POWER ไทย ให้มีศักยภาพส่งต่อไปถึงความยั่งยืน เพื่อนำไปสู่สายตาชาวโลก
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึง ความเป็นไปได้ในการผลักดันนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ว่า นับเป็นครั้งแรกที่ นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ถูกหยิบยกเป็นโยบายระดับชาติ จากทั้งทางพรรคเพื่อไทยเอง และทุกพรรคที่หาเสียงไว้ช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งหากอ้างอิงจากนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวถึง Roadmap ก็ประเมินว่า อาจจะใช้เวลาถึง 3 ปี ถึงจะเริ่มเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ตามแผน
“นโยบายนี้อาจจะไม่สามารถคาดหวังได้ระยะเวลาอันรวดเร็ว เพราะเป็นเรื่องที่ต้องขับเคลื่อนในระยะยาว รวมถึงนโยบายนี้มีมิติ 3 ด้านสำคัญ คือ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ทับซ้อนกันอยู่ อย่างประเทศที่ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์สำเร็จอย่าง เกาหลีใต้ สำเร็จได้จากนโยบายการเมืองที่แข็งแรงและต่อเนื่อง” วีระศักดิ์ กล่าว
ด้านยุทธศักดิ์ สุภสร อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มองว่า ปัจจุบันนี้ คนไทยมีความเข้าใจเรื่องซอฟต์พาวเวอร์มากกว่าในอดีต สำหรับซอฟต์พาวเวอร์ที่โดดเด่นของไทย เช่น ภาพยนตร์ แฟชั่น อาหารไทย เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถนำมาสร้างมูลค่าในมิติการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ได้อย่างดี สามารถนำไปต่อยอดทำให้เกิดการสร้างมูลค่าได้
นอกจากนี้ยังแนะนำว่า การผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้เป็นรูปธรรม ตามแผน 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ต้องเริ่มที่ความสามารถและจุดแข็งประชาชนในพื้นที่ เป็นที่ตั้ง ใช้วิธีสร้างการมีส่วนร่วมเชื่อมโยงพื้นที่ สร้างเครือข่าย โดยรัฐบาลมีหน้าที่ในการค้นหาจุดแข็งเหล่านี้ขึ้นมา เพื่อนำมาส่งเสริม โดยต้องระวังในการดำเนินนโยบายว่า ต้องไม่ใช้วิธีบังคับประชาชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ทิ้งท้ายว่า ส่วนตัวอยากเห็นรัฐบาลผลักดัน ‘ซอฟต์พาวเวอร์ของไทย’ ได้เหมือนกับ ‘เกาหลีโมเดล’ ซึ่งเป็นการยกระดับภาพลักษณ์ประเทศผ่านสินค้าและผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและยกระดับภาพลักษณ์ของไทยได้ในเวลาเดียวกัน
ขณะที่ อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อดีต ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตอกย้ำว่า ความอยากเห็นไดเร็กชันของภาครัฐ ในการขับเคลื่อน ซอฟต์พาวเวอร์ เพราะถึงจะมีการพูดถึงงบประมาณที่นำมาใช้ 7,000 ล้านบาท ภาพรวมทั้งประเทศ ถือว่า ไม่ได้เยอะมาก ทั้งยังปฏิเสธไม่ได้ ว่า เมื่องบฯ อยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ หน่วยนั้น ๆ ย่อมมีโครงการ ภารกิจที่ต้องใช้อยู่แล้ว ดังนั้น จะต้องปรับจูนงบประมาณมาทำงานทิศทางเดียวกับของรัฐบาลได้อย่างไร ดังนั้น เงินในส่วนสนับสนุน ถือเป็นสิ่งสำคัญ
ซอฟต์พาวเวอร์ ถือเป็นโครงการเรือธงของรัฐบาล เทียบเท่า ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จึงคิดว่า จะมีความชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งเรื่องทุน กลุ่มอุตสาหกรรมทั้ง 11 อุตสาหกรรม จะเดินหน้ากลุ่มไหนก่อน-หลัง ขยายถึงต่างประเทศ จึงต้องรอแผนรวมที่ชัดเจนอีกครั้ง
“อยากเห็นการขจัดอุปสรรคด้านกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ทั้งในตัว พ.ร.บ. และระดับกระทรวง อยากเห็นการแก้ไข เนื่องจากหากไม่แก้ จะเคลื่อนไปข้างหน้า ยากมาก” อภิสิทธิ์ กล่าว
สรโชติ อำพันวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช้อป โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัดระบุว่า สิ่งที่ภาคเอกชน ต้องการจากรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายนี้ คือ ขอให้รัฐบาลแสดงออกว่าตั้งใจจะเดินหน้า เอกชนก็พร้อมที่จะเดินหน้าไปด้วยกัน
ผู้ประกอบการเอกชน ต้องการให้รัฐบาลส่งเสริมเรื่องการเชื่อมต่อเครือข่ายทั่วโลก เพื่ออำนวยความสะดวกในการพัฒนามูลค่าสินค้า และบริการผ่านนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ และรวมถึงเรื่องเงินทุน ซึ่งหากรัฐบาลสามารถสนับสนุนใน 2 ข้อนี้ได้ เชื่อว่าเอกชนก็เดินหน้านโยบายซอฟต์พาวเวอร์ไปในเวทีโลกได้มากขึ้น
พิตรพิบูล ธีร์จันทึก ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) กล่าว่า เอสเอ็มอีในกลุ่มซอฟต์พาวเวอร์ ถือเป็นกลุ่มไมโคร เป็นผู้ประกอบการบุคคลธรรมดา อาชีพอิสระ หรืออาชีพเสริมก็ได้ แต่ซอฟต์พาวเวอร์ คือ การผลักดันวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา แปลงเป็นทุน ให้มีมูลค่าทางการตลาด โดยสิ่งเหล่านี้ เป็นได้ทั้งสินค้าที่จับต้องได้ และทักษะเบื้องต้นของเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
“สิ่งที่ต้องการสะท้อน คือ ให้กลับมาที่ตัวเรา ว่าตัวเรามีจุดยืนอะไรที่เราจะทำ เพราะซอฟต์พาวเวอร์ มีโปรดักส์ และบริการ เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม นำมายึดโยงกับตัวเรา ให้มันมีอิมแพคกับคนส่วนใหญ่ หรือทุกคนบนโลกใบนี้” พิตรพิบูล กล่าว
มนตรี วิโรจน์เวชภัณฑ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและกรรมการ Iron Chef เปิดเผยว่า อาหารไทยเป็นที่รู้จักในระดับโลก เพราะมีความแตกต่างทางโครงสร้างอาหาร รวมถึงเนื้อสัมผัส ที่มีความซับซ้อน และหลากหลายกว่าชาติอื่น และองค์ประกอบด้านวัตถุดิบของอาหารไทย ที่มาจากพื้นที่ (Local) เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ส่วนมุมมองของการผลักดันนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล ในทางปฎิบัติตาม Roadmap ที่รัฐบาลประกาศออกมา โดยมนตรี ยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ยากและห่างไกล แต่เชื่อว่าหากรัฐบาลทำได้ ก็จะสามารถช่วยส่งเสริมให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติได้
“สิ่งที่สำคัญที่สุดในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทยไปให้ไกล อาจจะไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด แต่รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยให้นานที่สุด เพื่อความยั่งยืนและประโยชน์ของชาติ” มนตรี กล่าว
สักกพิช มากคุณ ผู้ร่วมก่อตั้งค่าย YUPP Entertainment บอกว่า เป็นโอกาสดี ที่ไทยจะส่งออกวัฒนธรรมได้มากขึ้น และจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะทำให้ไทยไม่ขาดดุลวัฒนธรรม เมื่อมีดนตรี - คอนเสิร์ตเกาหลีในไทย ไทยก็จะได้รับการโชว์ หรือ Go on ต่างประเทศด้วย วันนี้ สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ มีการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ เพื่อส่งออกวัฒนธรรม หนุนสร้างโปรดักส์ดนตรี จัดคอนเสิร์ตศิลปินไทยดังไกลทั่วโลก และตอนนี้ต้องรอการเรียกคุยของภาครัฐ เพื่อชี้ชัดแนวทางการเคลื่อน ในวงการเพลงนี้ต่อไป
“ตอนนี้ มองว่า หลาย ๆ ค่าย มองหาโอกาสใน Global มากขึ้น แต่หากไปเดี่ยว ๆ จะไปได้ไม่สุด ไปไม่นาน และไม่ได้ไกลมาก โลกดนตรีจะไม่แคบเหมือนเดิมอีกต่อไป ซึ่งการนำเม็ดเงินเข้าช่วยสนับสนุนวงการดนตรี ศิลปินไทย ก็จะได้เม็ดเงินกลับเข้าประเทศไทยอย่างมาก ด้วยเช่นกัน” สักกพิช กล่าว
เปรม บุษราบวรวงษ์ กรรมการผู้จัดการ วันแชมเปียนชิพ ประเทศไทย มอง กีฬาขณะนี้เป็น 1 ในซอฟต์พาวเวอร์ที่ดีที่สุดของไทยอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะ ‘มวยไทย’ กล่าวได้ว่า มวยไทยไม่ค่อยมีโอกาสโชว์ระดับโลกเท่าไหร่ ถ้าได้เข้ามาและพัฒนาระบบให้คนเข้าถึงกีฬามวยไทย คิดว่า เม็ดเงินที่จะเข้าประเทศไทยอย่างมหาศาล เพราะเมืองไทย เป็นศูนย์รวมของนักกีฬาที่มาเก็บตัว โดยผลที่ตามมา คือ ผู้เดินทางเข้ามาจะไม่ใช่แค่กีฬา แต่ยังจะมีบรรดาแฟนคลับ คนซ้อม รวมถึงพาร์ทเนอร์ แต่ละคน ทั้งหมดคือเม็ดเงินทั้งนั้น
“วันนี้ถือเป็นข่าวดี ที่มีการส่งเสริมกีฬา และมวยไทย เพื่อฟื้นความซบเซาทั้งเหตุที่มาจากโควิด-19 และฟื้นภาพลักษณ์ หลังจากก่อนหน้านี้ มีเรื่องที่เป็นภาพลบเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งเรื่อง การพนัน และการตัดสินไม่ถูกต้อง ทำตลาดนี้ซบเซาลงไป แต่จากนี้ไป มวยไทย คือ ซอฟต์พาวเวอร์ คือ ทุนวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ที่พร้อมถูกผลักดันไกลในเวทีโลก สร้างฮีโร่ซอฟต์พาวเวอร์ ได้เพิ่มอีกด้วย” เปรม กล่าว
สุปรีย์ ทองเพชร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SPACEBAR เปิดเผยว่า เวที Soft Power ฝันไกล ไปได้แค่ไหน? ว่า ซอฟต์พาวเวอร์ เป็นเรื่องสำคัญ เป็นโอกาสของประเทศ ภาคธุรกิจ และคนไทยทุกคน กล่าวได้ว่า ซอฟต์พาวเวอร์ เป็นคำที่สร้างโอกาสให้กับคนไทยทุกคน และเกิดขึ้นผ่านความคิดสร้างสรรค์ โดยเอาตัวตนของตัวเองมาขับเคลื่อนแนวความคิดสู่โลกที่กว้างขึ้น
หากคนไทยเข้าใจว่าซอฟต์พาวเวอร์เกิดขึ้นได้กับทุกคน เพียงแค่สร้างสรรค์ออกมาจากตัวตน ก็สามารถเปลี่ยนให้กลายเป็นพลังที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ การส่งเสริมจากภาครัฐจะทำให้ประชาชนเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนสิ่งที่มีอยู่ให้กลายเป็น ซอฟต์พาวเวอร์ ที่มีพลังได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ยังมีโมเดลต้นแบบของซอฟต์พาวเวอร์ เช่น One Championship Thailand ,YUPP! และ Iron chef เพื่อให้เข้าใจถึงผลแห่งความสำเร็จของซอฟต์พาวเวอร์ ในโลกแห่งความเป็นจริงอีกด้วย