เวที Money Forum เสนอรัฐบาลวางกรอบให้ชัดเจน หาทางออกใช้เงิน 10,000 บาทดิจิทัล

Last updated: 28 ก.ย. 2566  |  129 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เวที Money Forum เสนอรัฐบาลวางกรอบให้ชัดเจน หาทางออกใช้เงิน 10,000 บาทดิจิทัล

เวที Money Forum เสนอรัฐบาลวางกรอบให้ชัดเจน
หาทางออกใช้เงิน 10,000 บาทดิจิทัล

กรุงเทพฯ 25 กันยายน 2566 – Spacebar ร่วมกับสภาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จัดวงเสวนา Spacebar Money Forum “เงินดิจิทัล 10,000 บาทกับ 5 คำถามที่ต้องเคลียร์” ระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน เพื่อสะท้อนมุมมอง และแนวคิด โดยแนวคิดอัดฉีดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต้องให้ยั่งยืนในระยะยาว และให้ดูการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่มาอย่างรวดเร็วด้วย ส่วนพรรคก้าวไกลประเมินว่าแก้ไขผิดจุด ควรใช้เงินกระตุ้นด้านอื่นมากกว่า

นายสุปรีย์ ทองเพชร ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย หรือ สภาเอสเอ็มอี กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ 9 แสนกว่าราย มีคนในระบบ 14 ล้านคน เพราะฉะนั้นการสร้างเงินดิจิทัลให้สำเร็จได้ จะต้องมีคนใช้เยอะมาก ทั้งในการเป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย

“เงินดิจิทัล ถ้าถูกใช้ในกลุ่มนี้ แล้วสร้างเป็นระบบปิด เพื่อให้คนเกิดการใช้จ่ายในระบบปิดนี้ จะทำให้เงินดิจิทัลไม่หลุดออกไปข้างนอก ไม่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาท เพราะสิ่งที่เสถียรภาพทางการเงินกลัวมาก คือ เงินดิจิทัล กลายเป็นเงินบาท จะทำให้แวลูของเงินดิจิทัลลดลง เช่น ซื้อก๋วยเตี๋ยวชามละ 100 บาท พอใช้เงินดิจิทัล ต้องใช้ถึง 120 บาท เมื่อไม่ต้องการให้เกิดสิ่งนี้ เลยพยายามให้ผู้ประกอบการทั้งประเทศ มีโอกาสที่จะเกิดระบบปิด (close ecosystem) ในการใช้จ่ายเงินดิจิทัลได้จริง” นายสุปรีย์ กล่าว

ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ยังได้มีข้อเสนอแนะว่า เมื่อครบกรอบของการใช้เงินดิจิทัล 2 ปีนี้แล้ว อยากให้รัฐบาลการันตีในการรับซื้อเงินดิจิทัลคืนจากผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้ลงทะเบียน เพราะต้องการให้ผู้ประกอบการ “เต็มใจใช้ และเต็มใจเก็บเงินดิจิทัลไว้ในมือ” เพื่อรอเวลาว่าจะสามารถขายคืนได้กับรัฐบาล ซึ่งก่อนจะถึงเวลานั้น จะเกิดรอบในการใช้เงินดิจิทัลหลายรอบ อยากจะให้รัฐบาล มองกลุ่ม SMEs ที่ใช้เงินดิจิทัลในทุก ๆ เดือน ช่วยเอาไปลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อจูงใจให้เข้ามาใช้เงินดิจิทัล ถ้า 9 แสนกว่าบริษัท คน 14 ล้านคนใช้เงินดิจิทัลขึ้นมาจริง ๆ โอกาสสำเร็จของดิจิทัลวอลเล็ตถึงจะเกิดขึ้นได้

นายสมคิด จิรานันตรัตน์ อดีตประธาน KBTG และอดีตที่ปรึกษา CEO ธนาคาร Krungthai กล่าวว่า นโยบายนี้ต้องมองในแง่มุมเกี่ยวกับเทคโนโลยี ว่าจะใช้แบบไหน ออกแบบอย่างไร สิ่งที่เหมาะสมที่จะเหมาะสมที่สุด เทคโนโลยีไปเร็วมาก ประเทศไทยพร้อมหรือยัง แต่เชื่อว่าหากทำได้จริง จะทำให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบ

“โดยส่วนตัวมองว่าลักษณะของโครงการนี้ใช้เงินค่อนข้างเยอะ ซึ่งต้องดูว่าคาดหวังอย่างไร แต่ถ้ามองว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ เชื่อว่าสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น แต่หลังจาก 6 เดือนไปจนถึง 1 ปี ทุกอย่างกลับมาเป็นเหมือนเดิม คิดว่าเป็นการลงทุนที่สูงเกินไป แต่หากนำไปต่อยอดโครงการอื่น ๆ เช่น ลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สร้างความสามารถของประเทศให้สูงขึ้น หรือสามารถช่วยแก้ปัญหาในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ไปสู่ Digital Economy เชื่อว่าจะเป็นการลงทุนคุ้มค่ามากกว่า โดยเฉพาะในระยะยาว” นายสมคิด กล่าว

ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด กล่าวว่า นโยบายดิจิทัล 10,000 บาท หากมองไปข้างหน้าตามที่นายกฯ บอกว่าจะได้ใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศไทยได้ เพราะจากการประเมินเศรษฐกิจโลกปีหน้าอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หลายประเทศเข้าสู่ภาวะชะลอตัว เพราะฉะนั้นจึงควรส่งเสริมการจับจ่าย ซื้อขายภายในประเทศจะช่วยได้อย่างแน่นอน เศรษฐกิจไทย สามารถเติบโตขึ้นจากการอัดฉีดเม็ดเงินด้านการบริโภค

นายสัญชัย ปอปลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ กล่าวว่า หากมองเจตนารมณ์ของนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพราะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการใช้จ่าย ดังนั้นจึงอยากข้อเสนอให้มีทั้งระยะสั้น และยาว เพื่อวางอนาคตเงินดิจิทัลสำหรับประเทศ
ส่วนในแง่การใช้เงินดิจิทัล ที่หลายคนยังถกเถียงกันว่า จะใช้อย่างไร แนวทางที่รัฐวางไว้เป็นอย่างไร โดยส่วนตัวมองว่า ระยะสั้น น่าจะมีชาเลนจ์หลายตัว โดยสิ่งใดที่หนุนให้เงินดิจิทัล ขับเคลื่อนได้เร็วก็สามารถใช้ไปก่อน เช่น แอปพลิเคชันเป๋าตังที่มีอยู่แล้ว สามารถใช้ได้ ประชาชนก็รู้จัก และใช้ได้กว้างขวาง

“ด้านบล็อกเชน มองว่า เป็นเรื่องการใช้สำหรับการรองรับในอนาคต โดยอยากให้นึกว่า ถ้าเราอยากจะแจกเงินให้คนเป็นจำนวนกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มเกษตรกร กลุ่มนักศึกษาจบใหม่ หรือ นักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ เด็กนักเรียน จะได้มีจุดชัดเจนมากขึ้น จะได้ลงไปแก้ปัญหาตรงจุดและตรงกลุ่มเป้าหมายในระยะยาว” นายสัญชัย กล่าว

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ผู้แทนจากพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ เพราะเป็นนโยบายที่ใช้เงินจำนวนมหาศาล และมองว่าไม่ได้ตอบโจทย์ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัจจุบันการบริโภคไม่ได้กำลังหดตัว แต่กำลังฟื้นตัว ปัญหาที่แท้จริง คือ การส่งออก ซึ่งนโยบายนี้ไม่ได้ช่วยเรื่องการส่งออก นโยบายอัดฉีดเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นการให้ยาไม่ถูกโรค จึงมองว่าไม่จำเป็นต้องใช้เงิน 5.6 แสนล้านในช่วงนี้

“เรากำลังให้ยาถูกโรคหรือเปล่า ถ้าทำไปแล้วไม่ได้ผลขนาดนั้น ในระยะยาว ช่วยได้หรือไม่ ต้นทุนค่าเสียโอกาสเยอะมาก ควรเอาเงินไปทำอย่างอื่นมากกว่า เช่น เพิ่มจำนวนเงินเบี้ยผู้สูงอายุในระยะยาวได้ อย่างน้อยก็ 4 ปี แต่นโยบายนี้ อาจช่วยได้ประมาณ 6 เดือนเท่านั้น ส่วนเรื่องเทคโนโลยีก็ต้องดูอีกทีว่านำเทคโนโลยีอะไรมาใช้ แต่ต้องมีความรอบคอบในการตัดสินใจเลือกใช้” นายปกรณ์วุฒิ


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้