Last updated: 1 มิ.ย. 2566 | 266 จำนวนผู้เข้าชม |
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังจากการหารือกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และผู้บริหารพรรค ประกอบด้วย
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคฝ่ายนโยบาย ดร.สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล นายวรภพ วิริยะโรจน์ และ นายศุภโชติ ไชยสัจ ว่าที่ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ว่าภาคเอกชนมีความยินดีที่การเลือกตั้งที่ผ่านมาประชาชนเกิดการตื่นตัวและออกมาใช้สิทธิ์จำนวนมาก ขณะเดียวกันเองผลการเลือกตั้งที่ออกมาก็สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของประชาชนที่อยากให้ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงและเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ต้องขอแสดงความยินดีกับพรรคก้าวไกลที่ได้รับคะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 ของการเลือกตั้งในครั้งนี้
โดยที่ผ่านหอการค้าไทยให้ความสำคัญและติดตามความคืบหน้านโยบายเศรษฐกิจของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะ MOU 23 ข้อ 5 แนวทาง ของพรรคร่วม รวมถึงมติของ 8 พรรคร่วมที่ได้จัดตั้งคณะทำงานประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่านใน 7 ด้าน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของหอการค้าฯ ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้แนวทาง 1) Connect หอการค้าฯ พร้อมประสานการทำงานกับทุกรัฐบาลอย่างใกล้ชิด 2) Competitive นโยบายหลายข้อของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ตรงกับหอการค้าฯ โดยเฉพาะเรื่อง Ease of Doing Business การปฏิรูปกฎหมาย กฎระเบียบที่ล้าสมัย การส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อกระจายรายได้ไปยังทุกจังหวัด และ 3) Sustainable ซึ่งหลายประเด็นมีนโยบายที่สามารถร่วมกันผลักดันได้ทั้ง ปัญหา PM 2.5 ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงนโยบายสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ
สำหรับประเด็นหารือที่เป็นไฮไลท์สำคัญในครั้งนี้ได้มีการพูดคุยถึงแนวนโยบายของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่และทำความเข้าใจกัน 3 ประเด็นเร่งด่วน คือ 1) ขอให้กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อให้การจัดทำนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณมีความต่อเนื่อง สร้างความเชื่อมั่นให้กับเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะแนวทางการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ที่หอการค้าฯ เห็นด้วยที่จะนำเอารูปแบบดังกล่าวมาใช้กับการจัดทำงบประมาณของประเทศ แต่มีข้อกังวลเรื่องกรอบระยะเวลาการจัดทำงบประมาณว่าจะสามารถดำเนินการได้ทันทีหรือไม่ เพราะรูปแบบดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการทำงานของภาครัฐในทุกหน่วยงานและใช้ระยะเวลามาก จึงฝากให้มีการจัดเตรียมแผนต่าง ๆ ให้รอบคอบ เพื่อให้การใช้งบประมาณของประเทศในการขับเคลื่อนมิติต่าง ๆ มีความต่อเนื่อง 2) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วย Ease of Doing Business และ Ease of Investment โดยปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง regulatory guillotine ที่มีภาครัฐและเอกชนต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพราะที่ผ่านมาไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนตรงจากต่างประเทศ เพียงการปรับปรุงกฎระเบียบให้มีความทันสมัยและสะดวกขึ้น จะช่วยดึงดูดการลงทุนได้อย่างมหาศาล นอกจากนี้ยังได้หารือในประเด็นนโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่พรรคก้าวไกลได้เสนอเป็นนโยบายหลักไว้ 450 บาทต่อวัน หอการค้าฯ เห็นด้วยที่จะมีการขึ้นค่าแรงอยู่ในระดับที่เหมาะสมตามแต่ละพื้นที่และควรเพิ่ม Productivity ของแรงงานควบคู่ไปพร้อมกัน ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่ควรมีการตัดสินใจอย่างรอบด้านร่วมกันก่อน ทั้งในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนในฐานะนายจ้าง และลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์บนพื้นฐานของกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันมีกลไกคณะกรรมการไตรภาคีฯ แต่ละจังหวัดในการพิจารณาและเสนอปรับค่าแรงขั้นต่ำเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ หากมีการขึ้นค่าแรงอย่างทันทีจะได้ไม่คุ้มเสีย เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจพึ่งฟื้นตัวและยังมีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจอีกหลายด้าน หากผู้ประกอบการมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นบางส่วนอาจจะรับไม่ไหว ซึ่งเป็นไปได้ทั้งการชะลอการจ้างงาน ปรับลดจำนวนพนักงาน หรือแม้แต่ภาคภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมากอาจพิจารณาย้ายฐานการผลิต รวมถึงนักลงทุนใหม่ที่หวังจะเข้ามาคงมีการปรับแผนลงทุนไปประเทศอื่นแทน ซึ่งส่วนนี้จะกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างหากไม่สร้างความชัดเจน ดังนั้น การจะปรับขึ้นค่าแรงจึงเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกันหลายส่วนและหวังว่าจะมีการทบทวนเพื่อให้เกิดรูปแบบที่ทุกภาคส่วนยอมรับได้ นอกจากนี้ยังเห็นด้วยกับแนวทางการปรับโครงสร้างพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่กระทบค่าครองชีพประชาชน และต้นทุนผู้ประกอบการทั่วประเทศ 3) เสริมสร้างความเข้มแข็งผู้ประกอบการ และ SMEs หอการค้าฯ ได้เสนอให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณานโยบายที่ช่วยเอื้อและสนับสนุนให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน Soft Loan ได้ง่ายขึ้น ทั้งการปรับกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง มาตรการพักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย รวมถึงพิจารณามาตรการที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างหนี้ เพราะเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว เพราะ SMEs ถือเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของประเทศและยังเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุดที่รัฐต้องเข้ามาสร้างความเข้มแข็ง
ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการเข้าร่วมหารือกับหอการค้าฯ ในวันนี้ว่าตนมี 3 วาระหลัก ในการมานำเสนอและหารือกับหอการค้าฯ คือ 1) ความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้แนวทาง 23 ข้อหลัก ใน MOU ของพรรคร่วม และการเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลชุดใหม่ของคณะทำงาน 7 ด้าน ซึ่งจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของนโยบายต่าง ๆ ของพรรคที่จะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน เพราะทั้งงบประมาณและเวลามีจำกัด 2) มุมมองเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ มองว่าเป้าหมายเศรษฐกิจประเทศไทยในอีก 4 ปีข้างหน้า จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตและไม่มีความเหลื่อมล้ำ ในระยะสั้นเศรษฐกิจโลกยังคงเติบโตช้า ดังนั้นจะต้องหาทางให้ประเทศไทยสามารถเติบโตต่อไปได้โดยไม่พึ่งพาเศรษฐกิจโลกมากจนเกินไป รวมถึงธุรกิจใหม่ ๆ อาทิ Power electronics จาก Silicon Carbide และเรื่องการพัฒนาด้านดิจิทัล เป็นต้น 3) นโยบายเศรษฐกิจที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและการเติบโตอย่างเป็นธรรม ผ่านโครงสร้างพื้นฐานให้เข้มแข็งโดยการทำ Ease of Doing Business และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมทั้งการยกเครื่องกฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ การจัดสรรและใช้งบประมาณที่มีประสิทธิภาพและกระจายอำนาจท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งนโยบายทั้งหมดจะต้องหา Scenario ร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน โดยดึงเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยเฉพาะเรื่องการปรับแก้กฎหมายที่ล้าสมัย
ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าภาคเอกชนไทยมีความเข้มแข็งและปรับตัวอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าจะเจอกับหลายวิกฤตทางเศรษฐกิจ วันนี้สิ่งที่เราพูดคุยกับพรรคก้าวไกล เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าภาคเอกชนและผู้ประกอบการอยากเห็นภาครัฐทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก บนเวทีการแข่งขันหน้าที่ของเอกชนก็พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ การพูดคุยในวันนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่รัฐและเอกชนจะได้ปรึกษาหาทางออกร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประเทศขับเคลื่อนและเติบโตได้อย่างยั่งยืน นายสนั่น กล่าวทิ้งทาย