TCMA ชี้บทพิสูจน์ความสำเร็จโมเดลลดโลกร้อน นำ ‘ปูนไฮดรอลิก’ โชว์เคสประเทศไทยสู่การยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ

Last updated: 8 พ.ค. 2566  |  305 จำนวนผู้เข้าชม  | 

TCMA ชี้บทพิสูจน์ความสำเร็จโมเดลลดโลกร้อน  นำ ‘ปูนไฮดรอลิก’ โชว์เคสประเทศไทยสู่การยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ

TCMA โชว์ความสำเร็จโมเดลความร่วมมือเชิงรุก “อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทย” สู้วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ด้วยโรดแมป 7 มาตรการตามแนวทางระดับโลกสู่การยอมรับจากงานสัมมนา Green Construction Dialogue 2023 ความร่วมมือลดโลกร้อนของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ในอาเซียน เตรียมเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero ปี 2593

 ดร. ชนะ  ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเป้าหมายหลักดำเนินงานร่วมกันของสมาชิก TCMA ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทุกรายของไทย โดยได้รับการสนับสนุนร่วมมือเป็นอย่างดีจากสมาชิก ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ ‘ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก’ มาตรฐาน มอก. 2594 หรือปูนลดโลกร้อน มีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถูกกำหนดเป็นแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพสูง ตาม Thailand NDC Roadmap ในสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (Industrial Processes and Product Use: IPPU)

 “TCMA มุ่งผลักดันให้เกิดการสื่อสารกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบและเข้าใจถึงข้อจำกัดต่างๆ ระหว่างกัน และนำไปสู่การแก้ปัญหา ที่ทำ Quick wins ให้ได้เร็วที่สุด ที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากทั้งภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา จนความสำเร็จแรกปรากฏเมื่อสิ้นปี 2564 ลดก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 300,000 ตัน CO2 และมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง  ภายใต้ ‘MISSION 2023’ ส่งเสริมใช้ ‘ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก’ ในทุกประเภทงานก่อสร้าง แทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ชนิดเดิม เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตัน CO2 ในปี 2566” ดร. ชนะ  กล่าว

 

ความมุ่งมั่นและร่วมกันทำงานเชิงรุกของทุกผู้ผลิตปูนซีเมนต์ เพื่อสนับสนุนนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และสอดคล้องกับทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในระดับโลก TCMA จึงร่วมมือกับ Global Cement and Concrete Association (GCCA) จัดทำ ‘Thailand Net Zero Cement & Concrete Roadmap 2050’ โดยการรับรองจาก European Cement Research Academy (ECRA) ตั้งเป้าสู่ Net Zero ภายในปี 2593 ด้วย 7 มาตรการหลัก 1. ลดจากกระบวนการผลิตปูนเม็ด 2. ลดการใช้ปูนเม็ดในการผลิตปูนซีเมนต์ อาทิ ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก มอก. 2594 หรือพัฒนาปูนซีเมนต์ชนิดใหม่ๆ 3. เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตคอนกรีต  4. ใช้เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนและนำไปใช้ประโยชน์/กักเก็บ ยังคงต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยี 5. ใช้พลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น การนำพลังงานทางเลือกและพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในกระบวนการผลิตให้มากขึ้น 6. ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์โดยคอนกรีต และ 7. เพิ่มประสิทธิภาพการออกแบบและก่อสร้าง เช่น นำเทคโนโลยีการออกแบบและก่อสร้าง (BIM) มาใช้ เพื่อลดการสูญเสียตลอดกระบวนการก่อสร้าง



“TCMA ได้รับการเชิญชวนจาก GCCA จัดทำ ‘Thailand Net Zero Cement & Concrete Roadmap 2050’ และสำเร็จเป็นประเทศแรกของเอเชีย โดยได้รับการตอบรับสนับสนุนเป็นอย่างดียิ่งจากทุกฝ่าย รวมทั้งนำเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Thailand NDC Roadmap นำเสนอในการประชุม COP27 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ณ สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ คาดการณ์ว่า ระยะแรก 2563-2573 จะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ครึ่งหนึ่ง จากการเพิ่มการใช้วัตถุดิบทางเลือกทดแทนการใช้ปูนเม็ด  ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและหาเชื้อเพลิงทดแทน เปลี่ยนการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงเป็นการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น  เพิ่มประสิทธิภาพในการออกแบบส่วนผสมคอนกรีต รวมถึงการออกแบบและก่อสร้าง หลังจากนั้นในปี 2574 เป็นต้นไป เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนและการใช้ประโยชน์/การกักเก็บ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) จะมีส่วนสำคัญในนำอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์สู่ Net Zero” ดร. ชนะ กล่าวเพิ่มเติม

 

ความก้าวหน้าลดก๊าซเรือนกระจกจากปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก และความชัดเจนของโรดแมปในการมุ่งสู่ Net Zero ภายในปี 2593 ตามแนวทางระดับโลก ถูกนำไปถ่ายทอดเป็นต้นแบบ ในงานสัมมนา Green Construction Dialogue 2023 เวทีสำคัญของบรูไนที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันหาแนวทางดำเนินการลดคาร์บอน ด้วยปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำและวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

คุณมาร์เซลิโน่ อูการ์เต้ กรรมการผู้จัดการ บุตราไฮเดลเบิรกซีเมนต์ กล่าวว่า “การทำงานของ TCMA เป็นตัวอย่างที่ดี ขอชื่นชมในความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ เป็นประเทศแรกของอาเซียน และมีโรดแมปขับเคลื่อนสู่ Net Zero อย่างชัดเจน หวังว่า บรูไนจะสามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกันในเร็ววัน และขอบคุณการสนับสนุนของ TCMA ที่นำคณะมาแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างกัน เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาของบรูไน ได้เข้าใจและนำไปขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วนเพื่อสร้างความยั่งยืนต่อไป”

 

ดร. ชนะ กล่าวเน้นย้ำ “ความร่วมมือ” เป็นหัวใจของการดำเนินงาน ด้วยการทำงานเชิงกลยุทธ์ผ่านการเสริมสร้างและกระชับความร่วมมือ รวมถึงเข้าใจกลไกการทำงาน และเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ทั้งในระดับโลก ระดับนโยบายของประเทศ ระดับหน่วยงาน ระดับพื้นที่ ภาครัฐ ภาควิชาชีพภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา ภาคเอกชน-ผู้ประกอบการ และผู้เกี่ยวข้อง นับเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อความก้าวหน้าและบรรลุเป้าหมายตามโรดแมป

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้