เปิดตัว“นายกสมาคมคนใหม่ HBA” งัดแผนสู้วิกฤตขาดแคลนแรงงาน ลุย 2 วาระเร่งด่วน ยื้อต้นทุนบ้านราคาเดิมถึงกลางปี 66

Last updated: 16 ก.พ. 2566  |  315 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เปิดตัว“นายกสมาคมคนใหม่ HBA” งัดแผนสู้วิกฤตขาดแคลนแรงงาน ลุย 2 วาระเร่งด่วน ยื้อต้นทุนบ้านราคาเดิมถึงกลางปี 66


วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566  / “โอฬาร จันทร์ภู่” รับตำแหน่งนายกคนใหม่ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA : Home Builder Association) เดินหน้านโยบายเร่งด่วน รับมือต้นทุนราคาก่อสร้างพุ่ง ชง 2 วาระด่วน “ลดปัญหาขาดแคลนแรงงานในธุรกิจรับสร้างบ้าน โดยขอให้กระทรวงแรงงานพิจารณาเปิดให้ขึ้นทะเบียนแรงงานในประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลน-การขออนุญาตก่อสร้างบ้านออนไลน์” ให้หน่วยงานภาครัฐพิจารณา หวังลดข้อจำกัดและเพิ่มความสามารถในการทำธุรกิจ ประกาศลุยจัดงาน “รับสร้างบ้านและวัสดุ Focus 2023 : สร้างบ้านที่ใช่ ในสไตล์ที่ชอบ” ในวันที่ 8-12 มี.ค.นี้ ที่ อิมแพ็ค ฮอลล์ 6 เมืองทองธานี ตอบโจทย์คนต้องการมีบ้าน พร้อมกระตุ้นเศรษ​ฐกิจประเทศในภาพรวม

นายโอฬาร จันทร์ภู่ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA : Home Builder Association) เปิดเผยว่า ภายใต้การดำเนินการของคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ชุดใหม่ในวาระ 3 ปี (2566-2568) มีความพร้อมเต็มที่จะนำพาสมาคมฯ เดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ด้วย 3 กลยุทธ์หลัก ดังนี้

1.    การยกระดับมาตรฐานธุรกิจรับสร้างบ้านให้เป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือในระดับประเทศ มุ่งตอกย้ำและสร้างความเชื่อมั่นอย่างสูงสุด เพื่อให้สมาคมฯ เข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภค รวมทั้งมุ่งสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพสมาชิกให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนสมาคมฯ สู่การเป็นองค์กรชั้นนำของประเทศ

2.      กลยุทธ์เดินหน้าสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Platform) ให้ครบทุกมิติและทันกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดของสมาชิก และกระตุ้นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของสมาคมฯ ให้ขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น

3.      การขยายฐานความร่วมมือกับพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน และการขยายฐานบริษัทสมาชิกให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยช่วยเสริมความแข็งแกร่งของสมาคมฯ ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

โดยในปี 2565 ธุรกิจรับสร้างบ้าน มีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 12,500 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 9% สะท้อนถึงความต้องการปลูกสร้างบ้านพักอาศัยของผู้บริโภคในตลาดยังคงมีจำนวนมาก ซึ่งมั่นใจว่าตลาดรับสร้างบ้านในปี 2566 ยังมีโอกาสขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เพราะผู้บริโภครับรู้และเชื่อมั่นในบริการของบริษัทรับสร้างบ้านมากขึ้น โดยคาดมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านจะแตะระดับ 13,250 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากปี 2565


อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ที่ท้าทายรอบด้านในปัจจุบันทั้งความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ภาวะดอกเบี้ยและต้นทุนขาขึ้น รวมถึงปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญสำหรับการสร้างบ้าน ส่งผลค่อนข้างมากต่อราคาบ้านทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยทางสมาคมฯ ได้รวบรวมข้อจำกัด พร้อมวางแนวทางรับมือและกลยุทธ์ เพื่อสร้างการเติบโตของตลาดรับสร้างบ้านไว้ ดังนี้

ปัญหาของต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น ที่ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ต้นทุนในการก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งบริษัทรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ ยังแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นนี้อยู่ หากปัญหานี้ยังไม่คลี่คลายอาจจะนำไปสู่การปรับขึ้นราคาบ้านในที่สุด โดยคาดว่าจะมีการปรับขึ้นราคาบ้านในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ประมาณ 5-10%

อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญ คือการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากสถานการณ์เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ ทำให้เกิดความต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในภาคก่อสร้างอย่างหนัก เนื่องจากแรงงานที่มีอยู่ก่อนหน้านี้บางส่วนเปลี่ยนอาชีพ และบางส่วนเข้าไปสู่ภาคอุตสาหกรรมอื่น เช่น ภาคบริการ การท่องเที่ยว เป็นต้น ทำให้ปัจจุบันธุรกิจรับสร้างบ้านขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ซึ่งทางสมาคมฯ มีข้อมูลว่า แรงงานตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ที่หนังสือเดินทาง (Passport) หมดอายุ และวีซ่า (VISA) สิ้นสุด มีแรงงานจำนวนมากที่ไม่ได้ไปดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ทำให้แรงงานเหล่านี้กลายเป็นแรงงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทางสมาคมฯ ขอให้กระทรวงแรงงานพิจารณาเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานในประเทศอีกรอบ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน

รวมถึงข้อจำกัดของการทำธุรกิจรับสร้างบ้าน ที่มาจากขั้นตอนการขออนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐยังคงมีความซับซ้อน นายโอฬาร กล่าวว่า จากปัจจัยดังกล่าวนำมาสู่การหาแนวทางรับมือให้ก้าวข้ามภาวะวิกฤตต่างๆ  ไปให้ได้ โดยสมาคมฯ ได้หารือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการขออนุญาตก่อสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ ผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งนี้เพื่อลดขั้นตอนและเพิ่มความรวดเร็วในการทำงาน รวมถึงเป็นการสร้างความโปร่งใสในการทำงานระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน

“ในเบื้องต้นทาง กทม. จะอนุญาตให้บ้านไม่เกิน 3 ชั้น และขนาดไม่เกิน 300 ตรม. สามารถยื่นก่อสร้างผ่านระบบออนไลน์ หากผลตอบรับดีเตรียมขยายพื้นที่การก่อสร้างอื่น ๆ เพิ่มเติม ซึ่งที่ผ่านมา สมาคมฯ ยังได้เรียกร้องให้ผู้ว่ากทม. เปิดสายตรง เพื่อรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องการขออนุญาตก่อสร้างด้วย” นายโอฬารกล่าว

ในส่วนของกลยุทธ์เพื่อเร่งขยายการเติบโตของธุรกิจรับสร้างบ้านในปีนี้ นายโอฬาร กล่าวว่า ยังคงเดินหน้ากระตุ้นกำลังซื้อผ่านการจัดงานใหญ่ “รับสร้างบ้านและวัสดุ Focus 2023” ที่ยังคงมีส่วนลดและสิทธิพิเศษดี ๆ มากมาย เตรียมมอบให้ผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน ไม่ควรพลาดงานในครั้งนี้




ด้านนายปริญญา เอี่ยมประดิษฐ์ภัณ อุปนายกฝ่ายกิจกรรมพิเศษ กล่าวว่า ทางสมาคมฯ ได้เตรียมกระตุ้นกำลังซื้อผ่านการจัดงานแสดงสินค้า “งานรับสร้างบ้านและวัสดุ Focus 2023” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “สร้างบ้านที่ใช่ ในสไตล์ที่ชอบ” ซึ่งเป็นงานที่รวบรวมบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำ ที่จะมานำเสนอบริการแบบครบวงจร พร้อมนำเสนอแบบบ้านมากกว่า 1,000 แบบ พร้อมทั้งโปรโมชั่นสุดพิเศษมากมาย โดยในปีนี้มั่นใจว่ายอดจองบ้านภายในงานจะใกล้เคียงปีที่ผ่านมา ประมาณ 4,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีผู้เข้าชมงาน 12,000 ราย

สำหรับงานรับสร้างบ้านและวัสดุ Focus 2023 มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 8-12 มีนาคม 2566 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ฮอลล์ 6 เป็นการจัดงานปีที่ 19 ซึ่งในทุก ๆ ปี จะได้รับการตอบรับจากผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้านที่จะเข้ามาชมงาน นอกจากนี้ยังมีผู้ที่สนใจศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับแบบบ้านและวัสดุก่อสร้างมาร่วมชมงาน โดยในงานนี้มีบริษัทรับสร้างบ้านและบริษัทวัสดุก่อสร้างเข้าร่วมออกงานกว่า 40 บริษัท

นอกจากโปรโมชั่นสุดพิเศษจากบริษัทที่มาร่วมออกงาน มีสินเชื่อพิเศษจากสถาบันการเงิน ลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้า ได้รับแบบบ้านใหม่พร้อมแปลนในรูปแบบ e-book, คูปองส่วนลดสูงสุด 10,000 บาท จองปลูกสร้างบ้านภายในงานลุ้นรับรางวัลทองคำแท่งมูลค่ารวมกว่า 150,000 บาท ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ที่ https://hba-th.org/home_focus2023

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้