Last updated: 7 พ.ย. 2565 | 444 จำนวนผู้เข้าชม |
วันนี้ 7 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงานแถลงข่าว NRCT TALK : ผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ครั้งที่ 5 “เครื่องวัดระดับน้ำตาลแบบไม่ต้องเจาะเลือดชนิดพกพา” ของนางสาวชนิดาภา ต้องใจหิรัญ และนางสาวพัทธ์ธีรา ลาภสมบูรณ์ยิ่ง แห่งวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งได้รับรางวัลผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2565 ระดับปริญญาตรี ระดับดีมาก และรางวัลการเขียนข้อเสนอโครงการนวัตกรรม ระดับปริญญาตรี ระดับดีเด่น ประจำปี 2565 จากการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2565 ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ที่ผ่านมา โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานฯ ณ ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้จัดให้มี “การประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษาประจำปี 2565” เพื่อสร้างและพัฒนาเยาวชนให้เป็นนักวิจัยหรือนักประดิษฐ์ที่มีคุณภาพและศักยภาพพร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ พร้อมทั้งการสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนานวัตกรรมที่จะมุ่งไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และให้นิสิต นักศึกษาระดับอุดมศึกษามีเวทีนำเสนอผลงานนวัตกรรมที่มีศักยภาพให้สามารถเผยแพร่สู่สาธารณชนและการแข่งขันในเวทีระดับชาติและนานาชาติ อีกทั้งสร้างเครือข่ายด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน โดยเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบไม่ต้องเจาะเลือดชนิดพกพา เป็นอีก 1 ผลงานที่ได้รับรางวัลระดับดีมาก ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (ระดับปริญญาตรี) โดย นางสาวชนิดาภา ต้องใจหิรัญ และ นางสาวพัทธ์ธีรา ลาภสมบูรณ์ยิ่ง นักศึกษาสาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยมี รองศาสตราจารย์ปรียา อนุพงษ์องอาจ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธวัช แก้วกัณฑ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งเวที “NRCT Talk: ผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา” จะเป็นเวทีที่เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในสถาบันการศึกษา กระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้นิสิต นักศึกษาเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่มีคุณภาพ ศักยภาพ และกลายเป็นบุคลากรทางการวิจัยของประเทศต่อไป
รองศาสตราจารย์ปรียา อนุพงษ์องอาจ อาจารย์ที่ปรึกษา ได้เผยว่า การคิดค้นเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบไม่ต้องเจาะเลือดชนิดพกพา ได้ร่วมมือกับ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสว่างจิต สุรอมรกูล แห่งคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และบริษัท ทัช เทคโนโลยี จำกัด ในการสร้างผลงานนี้ขึ้นมา ปัจจุบันผลงานดังกล่าว ได้รับการจดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบทางคลินิก ซึ่งหากผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจแล้วจะดำเนินการขอการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้สามารถผลิตและจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ต่อไป
ทางด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธวัช แก้วกัณฑ์ อาจารย์ที่ปรึกษา เปิดเผยว่า ผลการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบไม่เจาะเลือดชนิดพกพา เมื่อวัดระดับน้ำ ตาลในเลือดเทียบกับวิธีวัดแบบมาตรฐานจากอาสาสมัคร จำนวน 26 คน พบว่ามีระดับค่าน้ำตาลในเลือดตั้งแต่ 88 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถึง 159 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร โดยมีความคลาดเคลื่อนเฉลี่ย เท่ากับ 10.43 % มีค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเฉลี่ย เท่ากับ 3.02 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร มีความคลาดเคลื่อนมาตรฐานของการวัดเฉลี่ย 1.74 % โดยกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ โรงพยาบาลภาครัฐทั้งหมด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลเอกชน คลินิก รวมถึงประชาชนที่ต้องการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง
นางสาวชนิดาภา ต้องใจหิรัญ เจ้าของผลงาน กล่าวว่า ในปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคเบาหวานจำนวนมาก และผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เจาะเลือดเพื่อตรวจหาระดับน้ำตาลจะมีแผลที่หายช้า ดังนั้น จึงได้คิดค้นเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบไม่ต้องเจาะเลือดชนิดพกพาขึ้นมา เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานลดการบาดเจ็บจากการเจาะเลือด และยังพกพาได้อย่างสะดวกเนื่องจากมีขนาดเล็ก โดยเครื่องดังกล่าวใช้สำหรับผู้ที่ต้องการวัดระดับน้ำตาลในเลือดตั้งแต่ 70-350 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร สามารถวัดระดับน้ำตาลในเลือดได้ เพียงวางนิ้วลงบนเซ็นเซอร์ที่อยู่บนตัวเครื่องสามารถวัดและแสดงผลได้ภายใน 20 วินาที ซึ่งเครื่องวัดจะแสดงผลค่าระดับน้ำตาลในเลือดเป็นตัวเลขผ่านหน้าจอในหน่วยมิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL)
นางสาวพัทธ์ธีรา ลาภสมบูรณ์ยิ่ง กล่าวว่า เครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบไม่ต้องเจาะเลือดชนิดพกพามีความปลอดภัยสูง เพราะเซ็นเซอร์ที่ใช้ไม่ได้สัมผัสกับผิวหนังจึงไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนังและใช้แบตเตอรี่เป็นแหล่งจ่ายไฟให้กับตัวเครื่อง ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ในการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบไม่ต้องเจาะที่ปลายนิ้ว ทำให้ผู้ที่ใช้งานไม่บาดเจ็บ ไม่เจ็บปวด ไม่เกิดการกลัวในขณะวัด ใช้กับผู้ที่กลัวเข็มได้ตรวจน้ำตาลในเลือดได้บ่อยตามที่ต้องการ