กอ.รมน. - วช. ร่วมกับ มมส. เดินหน้าถ่ายทอดองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม พร้อมเร่งส่งมอบนวัตกรรมสู้ภัยแล้งที่อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์

Last updated: 25 ก.ค. 2565  |  267 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กอ.รมน. - วช. ร่วมกับ มมส. เดินหน้าถ่ายทอดองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม พร้อมเร่งส่งมอบนวัตกรรมสู้ภัยแล้งที่อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) จัดพิธีส่งมอบนวัตกรรมและตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการ “การบริหารจัดการภัยแล้งพื้นที่เกษตรกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ด้วยวิจัยและนวัตกรรมอย่างยั่งยืน” เพื่อนำองค์ความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร โดยมี พลโท อุดม โกษากุล ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กอ.รมน. และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีส่งมอบฯ และพันเอก โอภาส จันทร์อุดม รองผู้อำนวยการ กอ.รมน. จังหวัดบุรีรัมย์ ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย พันเอก โอภาส จันทร์อุดม รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หัวหน้าโครงการฯ กล่าวรายงาน ซึ่งในพิธีได้รับเกียรติจากหัวหน้าหน่วยงานราชการในท้องถิ่น ผู้นำชุมชน เกษตรกร และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงทุ่งเมืองทอง ตำบลชุมแสง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์

พลโท อุดม โกษากุล ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กอ.รมน. กล่าวว่า กอ.รมน. ได้ร่วมมือกับ วช. ในการสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการภัยแล้งให้กับพื้นที่เป้าหมายจังหวัดบุรีรัมย์ โดยศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กอ.รมน. ได้คัดเลือกพื้นที่บ้านตามา บ้านสุขวัฒนา และ บ้านสุขสำราญ ตำบลชุมแสง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นโครงการวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร.อนงค์ฤทธิ์ แข็งแรง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วิจัยและนวัตกรรม เป็นหัวหน้าโครงการฯ ได้ร่วมกับคณะนักวิจัยจาก 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เพื่อดำเนินโครงการการบริหารจัดการภัยแล้งพื้นที่เกษตรกรรมในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กอ.รมน. ได้ติดตามการดำเนินงานมาโดยตลอด และด้วยความตั้งใจของหัวหน้าโครงการฯ ตลอดจนการสนับสนุนของส่วนราชการต่าง ๆ ในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยกลไกบูรณาการเชิงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานพัฒนา หน่วยงานภาคปฏิบัติในพื้นที่ และหน่วยงานที่ร่วมสนับสนุนผลผลิตการวิจัย เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เล็งเห็นถึงความร่วมมือระหว่างภาคการวิจัยและภาคความมั่นคง ในการเชื่อมต่องานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาให้ภาคประชาชน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง วช. และ กอ.รมน. ในการใช้ประโยชน์องค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ ตามแนวคิด “ชุมชนเข้มแข็ง ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ซึ่งจะเป็นการส่งมอบผลงานวิจัยและนวัตกรรมในโครงการเรื่อง “การบริหารจัดการภัยแล้งพื้นที่เกษตรกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ด้วยวิจัยและนวัตกรรมอย่างยั่งยืน” โดย วช. ได้ให้การสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการภัยแล้งพื้นที่เกษตรกรรม ผ่าน 4 กิจกรรมหลัก 12 นวัตกรรม ที่พัฒนาโดยทีมคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต การยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ตำบลชุมแสง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ให้สูงขึ้น และที่สำคัญยิ่งคือ ความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องชาวตำบลชุมแสงและพื้นที่ข้างเคียง ตลอดจน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ปราชญ์ชุมชน ที่ร่วมมือกันจนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี


ศาสตราจารย์ ดร.อนงค์ฤทธิ์ แข็งแรง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า กอ.รมน. และ วช. ได้คัดเลือกพื้นที่ในจังหวัดบุรีรัมย์เป็นพื้นที่เป้าหมายในการทำโครงการการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อชุมชนสังคม ภายใต้แผนงานทุนท้าทายไทยด้านภัยแล้ง กลุ่มเรื่องภัยแล้ง ประจำปี 2564 โดยมอบหมายให้ คณะผู้ดำเนินโครงการจาก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ดำเนินโครงการในพื้นที่ 3 หมู่บ้านในเขตตำบลชุมแสง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ บ้านตามา บ้านสุขสำราญ บ้านสุขวัฒนา ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งทุกปี ทำให้เป็นอุปสรรคในการทำเกษตรกรรมของเกษตรกร จากปัญหาภัยแล้งดังกล่าว ทำให้เกษตรกรในพื้นที่มีความต้องการนวัตกรรมที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนารูปแบบการทำเกษตรให้ตรงกับบริบทของชุมชนให้เกิดประโยชน์ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ ทั้งด้านการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร การจัดการผลผลิตทางการเกษตร การทำการเกษตรนอกฤดูกาลเพาะปลูก และการต่อยอดการใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์ร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด กิจกรรมในวันนี้ ภาคประชาชนในพื้นที่จะได้นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ส่งมอบให้ไปใช้ในการประกอบอาชีพของกลุ่ม รวมถึงช่วยเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ให้เป็นที่รู้จักและได้มาใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมจากการวิจัยร่วมกันต่อไป

สำหรับพิธีส่มอบนวัตกรรมในครั้งนี้ มีสมาชิกหมู่บ้านและเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ในพื้นที่ตำบลชุมแสงเข้าร่วมงานกว่า 200 คน โดยผลงานนวัตกรรมที่ กอ.รมน. ร่วมกับ วช. และ มมส. นำมาส่งมอบประกอบด้วย 4 กิจกรรม 12 นวัตกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 : กิจกรรมการพัฒนานวัตกรรมบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ประกอบด้วย ระบบการจัดสรรน้ำตามศักยภาพน้ำต้นทุน จำนวน 1 ชุดข้อมูล, ชุดข้อมูลการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร จำนวน 1 ชุดข้อมูล, ชุดระบบสูบน้ำด้วยพลังงานเเสงอาทิตย์เเบบเคลื่อนย้ายได้เพื่อการเกษตร จำนวน 3 ชุด, ชุดนวัตกรรมสูบน้ำและกระจายน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 3 ชุด และชุดนวัตกรรมหน่วยเก็บกักน้ำย่อยและกระจายน้ำและสูบและจ่ายน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบเคลื่อนที่ จำนวน 3 ชุด กิจกรรมที่ 2 : การพัฒนานวัตกรรมในการยกระดับการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพสูง ประกอบด้วย ชุดระบบอบแห้งด้วยรังสีอินฟราเรดเเบบถังหมุนชนิดเคลื่อนย้ายได้ระบบไฮบริด จำนวน 1 ชุด และชุดนวัตกรรมแปรรูปเพื่อเพิ่มคุณภาพข้าวเปลือกและเมล็ดพันธุ์ 1 ชุด กิจกรรมที่ 3 : การพัฒนานวัตกรรมเกษตรแบบผสมผสานเพื่อแก้ปัญหาความยากจนด้วยระบบสมาร์ทฟาร์ม ประกอบด้วย นวัตกรรมเกษตรแบบผสมผสาน จำนวน 1 ชุด และกิจกรรมที่ 4 : การส่งเสริมนวัตกรรมชุมชนพึ่งตนเองและใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน ประกอบด้วย ชุดระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชนพึ่งตนเอง จำนวน 1 ชุด, ชุดเตาเผาชีวมวล จำนวน 1 ชุด, ชุดเครื่องผลิตน้ำส้มควันไม้ จำนวน 1 ชุด และชุดผลิตปุ๋ยจากผลิตภัณฑ์เหลือทิ้งจากป่าชุมชน จำนวน 1 ชุด โดยมี พันเอก โอภาส จันทร์อุดม รองผู้อำนวยการ กอ.รมน. จังหวัดบุรีรัมย์ ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นผู้รับมอบนวัตกรรมฯ และได้ส่งมอบนวัตกรรมดังกล่าวต่อให้แก่ตัวแทนของพื้นที่ 3 หมู่บ้านของตำบลชุมแสง ได้แก่ บ้านตามา บ้านสุขวัฒนา และบ้านสุขสำราญ เพื่อให้พื้นที่ทั้ง 3 หมู่บ้านที่กล่าวมา นำองค์ความรู้และนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาภัยแล้ง ก่อให้เกิดเกิดการบริหารจัดการแหล่งน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ทางการเกษตรให้ได้มากที่สุด ซึ่งทำการแก้ปัญหาจากต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรและประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้