Last updated: 18 พ.ค. 2565 | 288 จำนวนผู้เข้าชม |
วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม 2565 ที่ห้องประชุม 402 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมการวิจัยและการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการนิติบัญญัติ ระหว่าง สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา กับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า
"การดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภามีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การเมืองการปกครองของประเทศเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล มีความสุจริต โปร่งใส โดยยึดหลักความถูกต้อง และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ"
"เพื่อนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ของประเทศได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ดังนั้น การที่วุฒิสภาจะได้รับการสนับสนุนข้อมูลจากผลงานวิจัย และข้อมูลทางวิชาการจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ที่มีการศึกษาติดตาม วิเคราะห์ สังเคราะห์ ในเรื่องนั้น ๆ มาเป็นอย่างดี รวมทั้งมาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้และเป็นที่ยอมรับ"
"ย่อมยังประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินงานในกระบวนการนิติบัญญัติของวุฒิสภา เพราะจะช่วยให้การพิจารณาตัดสินใจในภารกิจด้านต่าง ๆ ของสมาชิกวุฒิสภา และคณะกรรมาธิการเป็นไปด้วยความละเอียด รอบคอบ และอยู่บนพื้นฐานของหลักคิดทางวิชาการมากยิ่งขึ้น"
"การจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในวันนี้ จึงเป็นทั้งโอกาสและนิมิตหมายที่ดีของความพยายามและความร่วมมือ ในการเชื่อมโยงและบูรณาการการดำเนินงานเพื่อทำให้เกิดการสนับสนุนการวิจัยของประเทศ และการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและผลงานทางวิชาการร่วมกัน แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและพัฒนาการของการประสานประโยชน์ระหว่างทั้งสองหน่วยงาน เพื่อรองรับการดำเนินงานในกระบวนการนิติบัญญัติ และเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน สังคม และประเทศชาติโดยรวม"
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า
"ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีกรอบในการดำเนินการคือ ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมวิเคราะห์ ออกแบบ และจัดกิจกรรมร่วมกันในการส่งเสริมการวิจัย"
"การนำเสนอข้อมูลจากการวิจัยและข้อมูลทางวิชาการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในกระบวนการนิติบัญญัติของวุฒิสภา ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ การพิจารณาศึกษาญัตติ และการพิจารณาศึกษาเรื่องใด ๆ ภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานตามแนวนโยบายของประเทศ โดยสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภารับผิดชอบในการนำเสนอประเด็นต่าง ๆ รวมทั้งโจทย์วิจัย ประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ข้อมูลกิจกรรมการนำเสนอข้อมูลทางการวิจัยและข้อมูลทางวิชาการ"
"เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในกระบวนการนิติบัญญัติเพื่อให้เกิดการรับรู้แก่สมาชิกวุฒิสภา และบุคลากรในกระบวนการนิติบัญญัติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติรับผิดชอบในการสนับสนุนทุนวิจัย การรวบรวมข้อมูล การสังเคราะห์ สรุปผลการวิจัย และการนำเสนอข้อมูลความรู้จากการวิจัย พร้อมทั้งการประสานงานกับนักวิจัยเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในกระบวนการนิติบัญญัติบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ได้มีการลงนามร่วมกันเป็นต้นไป โดยมีระยะเวลาสามปี"
"เชื่อว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของวุฒิสภาซึ่งมีบทบาทหน้าที่ครอบคลุมการดำเนินงานในทุกด้านและทุกมิติของประเทศ ต่อไปการออกแบบทางด้านกฎหมาย การทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติจะได้รับความเชื่อมั่นจากภาคประชาชนมากยิ่งขึ้น เพราะนำกระบวนการวิจัยและพัฒนามาช่วยสนับสนุน การที่ฝ่ายนิติบัญญัติเห็นความสำคัญของการนำกระบวนการวิจัยและพัฒนามาสนับสนุนการทำงาน จะมีส่วนช่วยให้กระบวนการออกกฎหมายสามารถตอบโจทย์ความต้องการของสังคมได้ โดยตั้งอยู่ในหลักการและข้อมูลทางการวิจัยที่เชื่อถือได้ ซึ่งจะนำมาซึ่งประโยชน์สุขของประชาชนและประเทศชาติโดยรวมต่อไป"