Last updated: 12 ส.ค. 2564 | 393 จำนวนผู้เข้าชม |
เดือนสิงหาคมเป็นช่วงเวลาสุดพิเศษของครอบครัวในการแสดงความรักความห่วงใยให้กับคุณแม่ ในรอบปีที่ผ่านมาหลายครอบครัวต้องใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้หลาย ๆ ครอบครัวหันกลับมาใส่ใจเรื่องสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขอเป็นส่วนหนึ่งในทุกความห่วงใย ด้วยการแนะนำนวัตกรรมแผ่นพื้นรองเท้าอัจฉริยะ Surasole ที่สามารถดูแลสุขภาพและเพิ่มความสุขของคนที่คุณรักตลอดช่วงเวลาที่ต้องอยู่บ้าน รวมทั้งการมอบสุขภาพกายและใจที่แข็งแรงเป็นของขวัญที่ดีที่สุดสำหรับวันแม่ในปีนี้
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่นวัตกรรมแผ่นพื้นรองเท้าอัจฉริยะ Surasole เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้รับบริการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเหมาะสมโดยนำองค์ความรู้จากงานวิจัยขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยี ขยายผลไปยังกลุ่มเป้าหมายและผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม และในโอกาสวันแม่ที่มาถึง จึงขอเชิญชวนทุกท่าน หันมาเลือกไลฟ์สไตล์ที่ดีต่อสุขภาพและความสุขใจให้คุณแม่ พร้อมเป็นของขวัญ วันแม่ในปีนี้
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.สุดเขตต์ พจน์ประไพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ อาจารย์ นายแพทย์ พรเทพ ตั้งกาญจนาเวฬุกุล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดเผยว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมกับ อาจารย์ แพทย์หญิง ภัทรา วัฒนพันธุ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และบริษัทสุรเทค จำกัด พัฒนาต้นแบบสำหรับระบบแพทย์ระยะไกลในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวและผู้สูงอายุโดยอาศัยเทคโนโลยีพื้นรองเท้าเซ็นเซอร์ (Surasole) ร่วมกับแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือและการจัดเก็บข้อมูลคลาวด์ โดยเห็นว่าปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ รวมถึงทางด้านการแพทย์ เมื่อพลเมืองอายุเพิ่มมากขึ้น เข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาซึ่งส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหว เช่น กล้ามเนื้อที่อ่อนแรงมากขึ้น การเสื่อมสภาพของข้อต่อกระดูก
นวัตกรรมแผ่นพื้นรองเท้าอัจฉริยะ มีฟังก์ชัน ที่น่าสนใจ ได้แก่ ใช้ออกกำลังกาย เนื่องจากพื้นรองเท้าอัจฉริยะนี้จะเชื่อมต่อข้อมูลเข้ากับโทรศัพท์มือถือแล้วจะรายงานผลลัพธ์การออกกำลังกาย ใช้ฝึกการทรงตัว ซึ่งในแอปพลิเคชันที่ใช้กับพื้นรองเท้าอัจฉริยะจะมีโปรแกรมผู้สูงวัยฝึกการทรงตัวได้ ที่พื้นรองเท้าจะมีเซ็นเซอร์จับการวางเท้าเพื่อวัดการทรงตัว ผู้สูงวัยต้องพยายามทรงตัวโดยให้จุดกลม ๆ อยู่บริเวณสูงกลางให้ได้ ถือว่าเป็นจุดที่ยืนแล้วสมดุลที่สุด ฝึกบ่อย ๆ จะเกิดความเคยชิน และใช้แจ้งเตือนการล้ม ฟังก์ชันนี้จะช่วยคุณคลายความกังวลกับลูกหลานเมื่อผู้สูงวัยออกไปข้างนอกบ้าน แล้วเกิดวิงเวียน แล้วล้มที่ไหนเซ็นเซอร์ที่พื้นรองเท้าจะตรวจจับ และส่งข้อความไปแจ้งเตือน ให้ลูกหลานรับรู้ทันที
ขณะนี้ทีมนักวิจัย นำโดยรองศาสตราจารย์ ดร.สุดเขตต์ พจน์ประไพ และ อาจารย์ แพทย์หญิง ภัทรา วัฒนพันธุ์ ได้เริ่มเก็บข้อมูลผู้สูงอายุประมาณ 1,000 คน โดย พื้นรองเท้า Surasole ข้อมูลทั้งหมดนี้จะถูกนำมาวิเคราะห์ และพยากรณ์ รูปแบบการเดิน เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลทำนายความเสี่ยงต่อการล้มหรือมีแนวโน้นที่จะล้มได้ง่าย และนำมาใช้ในการปรับสมดุลการทรงตัว
นวัตกรรมพื้นรองเท้าเซ็นเซอร์ Surasole สร้างจากเทคโนโลยี wearable sensor และ Internet of Things แผ่นพื้นรองเท้า Surasole นอกจากจะใช้ได้กับผู้สูงอายุในชีวิตประจำวันแล้ว Surasole ได้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้แพทย์นักกายภาพบำบัด และผู้ป่วยที่ทำกายภาพบำบัดด้านการเดิน การทรงตัว สามารถติดตามดูพัฒนาการของการทำกายภาพบำบัดได้โดยไม่จำเป็นต้องมาที่โรงพยาบาลซึ่งช่วยทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย เป็นอุปกรณ์ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และลดเวลาในการเดินทางมาทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาล นอกเหนือจากการใช้ด้านกายภาพบำบัด Surasole สามารถนำมาใช้ช่วยแพทย์ในการประเมินความเสี่ยงการเกิดแผลกดทับที่ฝ่าเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่เท้าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลลุกลามจนต้องถูกตัดเท้าอีกด้วย
ปัจจุบันแผ่นพื้นรองเท้าได้ถูกนำไปใช้งานในโรงพยาบาลหลายแห่ง ทั้งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี และ โรงพยาบาลตรัง ฯลฯ เพื่อให้แพทย์ และนักบำบัดได้เก็บข้อมูลการเดิน และการทรงตัว ของผู้ป่วยและสามารถติดตามข้อมูลได้ตลอดเวลา นอกจากใช้งานในโรงพยาบาลแล้ว ก็ยังเหมาะสมกับผู้สูงอายุทั่วไปอีกด้วย เพียงแค่สอดพื้นรองเท้าอัจฉริยะเข้าไปในรองเท้าผ้าใบ จากนั้นก็เริ่มต้นใช้งานได้เลย
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดการใช้งานนวัตกรรมแผ่นพื้นรองเท้าอัจฉริยะ Surasole สามารถติดต่อได้ที่ รองศาสตราจารย์ ดร.สุดเขตต์ พจน์ประไพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (หมายเลขโทรศัพท์ 044 224542, หรือ 0620785409, อีเมลล์ soodkhet@g.sut.ac.th)