Last updated: 24 ก.พ. 2564 | 561 จำนวนผู้เข้าชม |
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบเครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศด้วยระบบเซนเซอร์ (Dust Boy) ผลงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้แก่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนประชาชนให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ PM2.5 ได้อย่างทันท่วงที ช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าว “พิธีรับมอบเครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศด้วยระบบเซนเซอร์ (Dust Boy) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 9 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. กล่าวว่า การแก้ปัญหาและรับมือ PM2.5 ถือเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งในมิติการสร้างและพัฒนานวัตกรรม อว. มอบหมาย วช. ในฐานะหน่วยงานบริหารงานวิจัยของประเทศ (PMU) สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมตามแผนงานสำคัญของประเทศ กลุ่มเรื่อง PM2.5 เพื่อเสริมประสิทธิภาพการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยมุ่งหวังให้ประเทศมีการจัดการคุณภาพอากาศที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาของประเทศไทยในอนาคตให้มีความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และในวันนี้ ถือว่าเป็นการนำนวัตกรรมจากงานวิจัย “เครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กด้วยระบบเซนเซอร์ (Dust Boy)” ไปใช้ประโยชน์จริงในการเฝ้าระวัง เตือนภัยสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เพื่อสุขภาพของประชาชน
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวถึง ความห่วงใยประชาชน และตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจากการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ (NCDs)ทั้ง โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดและโรคมะเร็ง อันเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร “เครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กด้วยระบบเซนเซอร์ (Dust Boy)” ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการนำไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพของการเฝ้าระวัง เพื่อสื่อสารแจ้งเตือนความเสี่ยงต่อสุขภาพ ทั้งในระดับครอบครัวและชุมชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ประกอบด้วยประชาชนทุกกลุ่มวัยอาศัยอยู่รวมกัน ให้มีการดูแลป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย และ รองศาสตราจารย์ ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการวิจัย “การเฝ้าระวังและติดตามคุณภาพอากาศด้วยเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และ PM10 แบบเซนเซอร์ (DustBoy)” ได้ร่วมส่งมอบนวัตกรรม “เครื่องตรวจวัดฝุ่น DustBoy” ให้แก่ กรมอนามัย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 500 เครื่อง ในการเฝ้าระวัง เตือนภัยสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เพื่อสุขภาพของประชาชน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า
"ทางกระทรวงอว.ได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณะสุขโดยกรมอนามัย ในการมอบเครื่องตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่มีความแม่นยำจำนวน 500 เครื่องให้กับทางกระทรวงสาธารณะสุข โดยติดตั้งในโรงพยาบาล และสถานบริการทางการแพทย์ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เป็นปัญหาสำคัญทั้งต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม การที่ได้รับรู้ว่ามีฝุ่นมากน้อยขนาดไหน เป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารสถานะการณ์ทั้งในการลดปริมาณฝุ่นและป้องกันไม่ให้มีฝุ่นเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็จะช่วยเตือน เครื่อง Dust Boy เป็นอุปกรณ์ที่ทำการวิจัยในประเทศไทย โดยวช.สนับสนุนการวิจัยและดำเนินการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเป็นผู้พัฒนาและผลิต ขณะนี้ได้ดำเนินการติดตั้งไปกว่า 1000 เครื่อง โดยติดตั้งที่โรงพยาบาลขนาดเล็ก โรงเรียนต่างๆ ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการตรวจสอบประเมินประสิทธิภาพความแม่นยำในการควบคุมมลพิษ
เครื่องมือตัวนี้เป็นเครื่องมือที่ทำงานโดยใช้เทคนิคแสงเลเซอร์ในการวัดปริมาณฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 PM10 รวมทั้งวัดข้อมูลอากาศ อุณภูมิความชื้น ซึ่งข้อมูลนี้จะถูกส่งเข้าสู่ระบบกลางของประเทศ ก็จะรู้ว่ามาจากจุดใด การวางเซนเซอร์ 1-2 ตัวประโยชน์จะน้อยแต่ถ้าวางเป็นเครือข่ายทั่วประเทศด้วยความถี่ จะตรวจเช็คความแม่นยำได้ ในขณะเดียวกันข้อมูลพวกนี้เอาไปประมวลกันกับข้อมูลดาวเทียม อุตุวิทยา ก็จะสามารถเห็นภาพโดยรวมทั้งหมดได้
ยิ่งมีมากยิ่งดี เราจำเป็นต้องติดตั้งเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งดูแลเครื่องที่ติดตั้งอยู่แล้วให้มีความแม่นยำตลอดเวลา ข้อดีการวางเป็นเครือข่ายสามารถตรวจได้ว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่จะดูได้จากแผนที่ว่าถ้าเป็นเขียวทั้งหมดแล้วมีแดง 2-3 จุดก็ต้องไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น ระบบต่างๆต้องตรวจเช็คกันได้ยิ่งถี่มากยิ่งดีมาก
นวัตกรรมตัวนี้ยังจะต่อยอดไปยังนโยบายประเทศ เพราะเครื่องDust Boy เป็นเครื่องตรวจวัดที่นักวิจัยไทยได้ออกแบบขึ้น การออกแบบเป็นตัวแกนกลางดังนั้นนักวิจัยอื่นๆ สามารถต่อยอดต่อไปได้ เพราะว่าหน้าตาของระบบตรวจวัด ขนาด แหล่งไฟ การเชื่อมต่อสามารถไปต่อได้ทำให้เกิดธุรกิจได้ด้วยระบบDust Boy ที่เป็นระบบกลางนี้ทำให้สตาร์ทอัพเกิดขึ้น สตาร์ทอัพเอาจุดแข็งไปทำงานต่อไปได้ ในการสร้างเครือข่าย ที่สำคัญประเทศไทยมีเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติที่ข้อมูลต่างๆ ในภูมิภาคนี้เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ปัญหาฝุ่นเป็นปัญหาข้ามประเทศ ฝุ่นที่เกิดขึ้นประเทศหนึ่งก็สามารถข้ามไปประเทศอื่นได้ บางเวลาฝุ่นในประเทศไทยก็ออกไปสู่ข้างนอกได้ด้วยการรับรู้ข้อมูลก็เป็นประโยชน์ในการบริหารสถาณะการณ์
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า
"ขอบคุณกระทรวงการอุดมศึกษาที่ได้สนับสนุนตัวอุปกรณ์Dust Boyเพราะว่าเรามีข้อมูลเกี่ยวกับสภาพฝุ่น เพียงแต่อดีตมีข้อมูลน้อย และข้อมูลในอดีตมีประโยชน์มากในการนำมาใช้ในการวางแผนเตรียมทรัพยากรในการจัดการ ปัจจุบันเราได้รับเครื่องมา 500 เครื่องทำให้เราวางในระดับชุมชนในกลุ่มพื้นที่เสี่ยงไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือคนมีโรคประจำตัว ให้สามารถเผชิญเหตุได้อย่างเหมาะสมที่สำคัญในอนาคตที่กระทรวงอว.ได้สนับสนุนข้อมูลกลับมาในแง่ของการคาดการณ์ล่วงหน้า ซึ่งนำมาสู่เรื่องของชุมชนจะได้วางแผนในเรื่องของการป้องกัน เพราะการป้องกันในระดับพื้นที่เป็นจุดที่สำคัญที่สุดในเรื่องของการบรรเทาผลกระทบทางด้านสุขภาพ
ทั้งนี้แหล่งกำเนิดของฝุ่นมีความแตกต่างกัน ฝุ่นที่เกิดในกรุงเทพฯ แหล่งกำเนิดมาจากเครื่องยนต์ที่สันดาบไม่สมบูรณ์ การก่อสร้างและอื่นๆ แต่ฝุ่นต่างจังหวัดเป็นการเผาวัสดุทางการเกษตร ฝุ่นในกรุงเทพฯมีขนาดและอนุภาคที่เล็กกว่าเมื่อเทียบกับฝุ่นที่อยู่ต่างจังหวัด การป้องกันใช้หลักการเดียวกัน แต่วิธีการที่จะไปแก้ไขแหล่งกำเนิดจะต่างกัน แนวทางแก้ไขปัญหาต่างจังหวัดเป็นการเผาป่า จึงอาจจะต้องเปลี่ยนตั้งแต่วงจรการเลือกพืชที่จะปลูกก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน